คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ บ้านอาจเปิดคลิปให้ลูกดูหรือให้เล่นเกมเพื่อที่จะทำให้ลูกอยู่นิ่งมากขึ้น ควบคุมง่าย และดูแลง่ายขึ้น แต่ถ้าเด็กมีอาการงอแงเวลาไม่ได้ดูจอตามที่ต้องการ พฤติกรรมแบบนี้จะเรียกว่า “ติดจอ” นำมาซึ่งพัฒนาการต่าง ๆ ที่ล่าช้า จนคล้ายเป็นอาการของภาวะออทิสติก ซึ่งจะเรียกว่า “ออทิสติกเทียม” หรือ “Virtual autism” โดยจะพบได้บ่อยในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี
“ออทิสติกเทียม” ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของสมองเหมือนออทิสติกทั่วไป แต่เกิดจากพฤติกรรมการเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้อง โดยอาจพบได้ในเด็กที่ติดจอมากเกินไป จนสนใจแต่เรื่องราวที่อยู่ในหน้าจอ และขาดความสนใจ และมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ส่งผลเสียต่อพัฒนาการด้านการพูด เพราะการดูสื่อผ่านทางหน้าจอเป็นการสื่อสารทางเดียวไม่มีการโต้ตอบกลับทำให้เด็กไม่ได้ฝึกพูดหรือตอบคำถาม
การที่เด็กจดจ่อและเพลิดเพลินกับภาพที่เคลื่อนไหวรวดเร็วที่อยู่ตรงหน้า และเสียงที่สนุกสนานดึงดูดใจ สามารถส่งผลให้เด็กใจร้อน มีสมาธิสั้นลง เกิดอาการคล้ายโรคสมาธิสั้นตามมาได้ด้วย
6 อาการของโรคออทิสติกเทียม จะคล้ายคลึงกับโรคออทิสติกทั่วไป ได้แก่
- ซุกซนอยู่ไม่นิ่ง
- ไม่สามารถจดจ่อกับกิจกรรมอื่น ๆ ได้นาน ยกเว้นการดูหน้าจอ
- ไม่สนใจสิ่งแวดล้อมหรือผู้คนรอบข้าง
- ไม่มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
- อยู่ไม่นิ่ง
- มีความผิดปกติทางการพูด เช่น พูดช้ากว่าวัยหรือพูดไม่รู้เรื่องเมื่อเทียบกับพฤติกรรมของเด็กในวัยเดียวกัน
การป้องกันโรคออทิสติกเทียม
ต้องเริ่มตั้งแต่การสังเกตพฤติกรรมของลูกและการตระหนักถึงสภาพปัญหา การให้คุณพ่อคุณแม่และคนในครอบครัวมีปฏิสัมพันธ์กับลูกมากขึ้น เช่น การเล่นเกมง่าย ๆ ที่เหมาะกับพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัย, คุยกับลูกมากขึ้น, การมีกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันมากขึ้น เช่น การออกไปข้างนอกร่วมกัน ไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ ไปสวนสัตว์ ไปสวนสาธารณะ ออกกำลังกาย วาดรูป เล่านิทาน ก็จะทำให้เด็กรู้จักมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนมากขึ้น เพิ่มโอกาสที่เด็ก ๆ จะได้เจอกับเพื่อนในวัยเดียวกัน เพื่อกระตุ้นการพัฒนาการทางสังคมที่สำคัญพ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องกำหนดเวลาการใช้หน้าจอของลูก และไม่ทิ้งเด็กไว้กับหน้าจอเพียงลำพังโดยเด็ดขาด
สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกาได้กำหนดระยะเวลาการใช้หน้าจอที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละช่วงอายุ คือ
- ห้ามใช้หน้าจอเลย ยกเว้นการวีดิโอคอลล์ในเด็กอายุต่ำว่า 18 เดือน
- หลีกเลี่ยงการใช้ในเด็กอายุ 18-24 เดือน
- ไม่เกิน 1 ชั่วโมงในเด็กอายุ 2-5 ปี
ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่จะต้องให้เวลา มีระเบียบวินัย และอดทนในการค่อย ๆ ฝึกฝน และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูก รวมทั้งเรียนรู้และปรับตัวไปพร้อมกับลูก และต้องหมั่นสังเกตอาการลูกว่าเริ่มมีอาการติดหน้าจอหรือไม่ หากมีอาการเข้าข่าย แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยง วินิจฉัย ป้องกันและรักษาอย่างเหมาะสมร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการเลี้ยงดูที่เหมาะสมใกล้ชิดจากครอบครัว เพื่อให้ลูก ๆ มีพัฒนาการทางจิตใจ อารมณ์ และสังคมที่เพียบพร้อมสมบูรณ์
นพ.ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์
บทความที่เกี่ยวข้อง
ก้าวข้ามผ่านความทุกข์ด้วยพลังของการบำบัด
ในสังคมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบและความกดดัน การรักษาสุขภาพจิตกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้การดูแลสุขภาพร่างกาย
GAD เมื่อความกังวลกลายเป็นปัญหา
ทุกคนย่อมมีความกังวลใจบ้างเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน แต่ความกังวลที่มากเกินไปและต่อเนื่องเป็นเวลานานจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
บาดแผลที่เกิดขึ้นในใจเด็ก อาจเสี่ยงเป็น PTSD
โรค PTSD หรือโรคเครียดหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ เป็นโรคจิตเวชที่สามารถเกิดได้กับทุกคนที่ประสบเหตุการณ์รุนแรงหรือเหตุการณ์สะเทือนใจมา
Talk to Doctor
Call Us
Line BMHH