เช็กอาการ เข้าใจโรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder)
อาการซึมเศร้า (Depression) คือหนึ่งในปัญหาสุขภาพจิตที่พบได้มากขึ้นในสังคมไทย อ้างอิงจากสถิติแนวโน้มผู้ป่วย และข่าวสารเกี่ยวกับภาวะดังกล่าวในปัจจุบัน ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีทั้งเคสที่เป็นได้แบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว จึงทำให้หลายคนเริ่มตระหนักรู้ว่า ภาวะซึมเศร้าอยู่ใกล้เรามากกว่าที่คิด
ทำความเข้าใจสาเหตุโรคซึมเศร้าเกิดจากอะไร ตลอดจนอาการซึมเศร้าเริ่มต้นที่พบได้บ่อย ไปจนถึงอาการที่อยู่ในภาวะฉุกเฉิน สู่ขั้นตอนการวินิจฉัยและรักษาโรคซึมเศร้า เพื่อเป็นแนวทางในการรับมืออย่างเหมาะสม
โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder: MDD) คืออะไร ?
โรคซึมเศร้า คือโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่งที่เกิดจากความผิดปกติทางอารมณ์ (Mood Disorder) ตามระบบการวินิจฉัยโรค โดยโรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองอย่าง “เซโรโทนิน” (Serotonin) ที่มีระดับลดลง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการป่วยทั้งทางร่างกาย จิตใจ และความคิด ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น
- ความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ทำให้ส่งผลต่อความรู้สึก เพราะมีปฏิสัมพันธ์ที่สำคัญต่อวงจรระบบประสาท ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ไม่สมดุล อาจจะเป็นหนึ่งในสาเหตุโรคซึมเศร้า โดยพบได้บ่อยในสตรีระหว่างการตั้งครรภ์ หลังคลอดบุตร หรือหลังหมดประจำเดือน นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอารมณ์แปรปรวนมาก หากมีภาวะโรคไทรอยด์หรือโรคอื่น ๆ
- การส่งต่อทางพันธุกรรม อีกหนึ่งสาเหตุโรคซึมเศร้าที่เกิดจากการส่งต่ออาการป่วยทางจิตเวช ผ่านพันธุกรรมของคนในครอบครัว
อาการของโรคซึมเศร้า
อาการของโรคซึมเศร้าจะแตกต่างจากความรู้สึกเศร้าโดยทั่วไป โดยจะมีอาการเกือบตลอดทั้งวัน เกือบทุกวันและไม่หายไปใน 2 สัปดาห์ อาการมีได้ตั้งแต่เล็กน้อยแต่เรื้อรัง (Persistent Depressive Disorder) ไปจนถึงขั้นรุนแรง (Major Depressive Disorder: MDD) โดยสามารถสังเกตตัวเองหรือคนรอบข้างได้ จากอาการที่พบได้บ่อย ดังนี้
- รู้สึกซึมเศร้า หรือกระวนกระวาย
- รู้สึกว่างเปล่า
- สูญเสียความรู้สึกสนุก / มีความสุขในการทำกิจกรรมที่เคยชอบ
- มีความเปลี่ยนแปลงในด้านพฤติกรรมการกิน / ความอยากอาหาร อาจมีการลดหรือเพิ่มของน้ำหนักแบบไม่เหมาะสม
- ความต้องการทางเพศลดลง
- รู้สึกหมดพลังงาน หมดไฟในการทำสิ่งต่าง ๆ
- มีอาการทางกาย เช่น ปวดตำแหน่งต่าง ๆ โดยไม่มีสาเหตุที่ทำให้มีอาการอย่างชัดเจน
- ไม่ใส่ใจดูแลตัวเอง
- มีปัญหาด้านพฤติกรรมการนอนหลับ
- ไม่สามารถจดจ่อกับการทำกิจกรรมใด ๆ ได้ ไม่มีสมาธิ
- ความสามารถในการคิดวิเคราะห์และการตัดสินใจสิ่งต่าง ๆ แย่ลง
- มีความรู้สึกผิดหรือรู้สึกไร้ค่า
- มีความรู้สึกไม่อยากมีชีวิตอยู่
อาการโรคซึมเศร้าที่เข้าสู่ “ภาวะฉุกเฉิน” เป็นอย่างไร ?
อาการที่แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยกำลังเข้าสู่ภาวะฉุกเฉินจากการป่วยโรคซึมเศร้า คืออาการที่ผู้ป่วยมีความคิดทำร้ายตัวเองหรือความคิดฆ่าตัวตาย เมื่อครอบครัวหรือคนใกล้ชิดเริ่มสังเกตเห็นอาการดังกล่าว ให้รีบพาผู้ป่วยเข้ารับการดูแลรักษาอย่างเร่งด่วน
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์
ควรพบแพทย์เมื่อมีอาการซึมเศร้าเป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ หรืออาการผิดปกติที่เป็นนั้นมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม
การวินิจฉัยการวินิจฉัย
การวินิจฉัยโรคซึมเศร้า ต้องอาศัยการซักประวัติและตรวจร่างกายโดยแพทย์เฉพาะทาง เพื่อประเมินอาการโดยละเอียด และอาจมีการตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการในบางกรณี เนื่องจากมีโรคทางกายบางชนิดหรือการใช้ยา / สารบางอย่างที่มีผลทำให้มีอาการคล้ายโรคซึมเศร้า ได้
การรักษา
การรักษาโรคซึมเศร้าให้อาการดีขึ้นสามารถทำได้หลากหลายวิธี ทั้งการใช้วิธีแก้โรคซึมเศร้าด้วยตัวเอง เพื่อลดภาวะอาการป่วย และการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าร่วมกับการทำจิตบำบัดและพฤติกรรมบำบัด ถ้ามีอาการรุนแรงมาก อาจต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลตามความเหมาะสม
เกร็ดความรู้ : ยาโรคซึมเศร้ามีอะไรบ้าง แตกต่างกันอย่างไร ?
ยาซึมเศร้า เป็นยาที่ช่วยปรับสารเคมีในสมอง เพื่อให้เกิดความสมดุลของสารสื่อประสาท ลดอาการจากภาวะซึมเศร้า ปัจจุบันยารักษาโรคซึมเศร้าแบ่งได้หลายประเภทตามกลไกการออกฤทธิ์ โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาจ่ายยารักษาตามความเหมาะสม
ประเภทและกลไกการออกฤทธิ์ของยาต้านเศร้า
- ยาต้านเศร้ากลุ่ม SSRIs (Selective Serotonin Reuptake Inhibitors) ออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมเซโรโทนินกลับเข้าเซลล์ ทำให้มีการสะสมของเซโรโทนินเพิ่มขึ้นในบริเวณส่วนต่อระหว่างเซลล์ประสาท ซึ่งจะทำให้สารเคมีในสมองกลับสู่ภาวะปกติ
- ยาต้านเศร้ากลุ่ม SNRIs (Serotonin and Norepinephrine Reuptake Inhibitors) ออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมเซโรโทนิน และนอร์อิพิเนพฟรีน (Norepinephrine) กลับเข้าเซลล์ ทำให้เซโรโทนินและนอร์อิพิเนพฟรีนเพิ่มขึ้นบริเวณส่วนต่อระหว่างเซลล์ประสาท อาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการปากแห้ง คอแห้งระหว่างวัน
- ยาต้านเศร้ากลุ่ม TCA (Tricyclic Antidepressant) ออกฤทธิ์ลดอาการซึมเศร้าด้วยการไปเพิ่มระดับของนอร์อิพิเนพฟรีนและเซโรโทนินในสมอง จากการใช้ยาไปยับยั้งการดูดซึมกลับเข้าเซลล์ของสารสื่อประสาททั้งสอง ทำให้ยาในกลุ่ม TCA จะเห็นผลรักษาอารมณ์เศร้าเมื่อใช้ยาไปแล้วนาน 2-3 สัปดาห์
- ยาต้านเศร้ากลุ่ม MAOI (Monoamine Oxidase Inhibitor) ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Monoamine Oxidase (MAO) ทำให้การเมตาบอลิซึมของนอร์อิพิเนพฟรีน, โดพามีน และเซโรโทนินลดลง ส่งผลให้ความเข้มข้นของสารสื่อประสาทเหล่านี้ภายนอกเซลล์มีมากขึ้น และกลับมาอยู่ในระดับที่สมดุล จึงช่วยบรรเทาอาการของโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลได้
อย่างไรก็ตาม การใช้ยาเป็นวิธีรักษาโรคซึมเศร้าภายใต้การดูแลของจิตแพทย์ ซึ่งจะต้องผ่านการวินิจฉัยอย่างละเอียด ก่อนทำการจ่ายยา และปรับปริมาณตามความเหมาะสม ไม่ควรซื้อรับประทานเอง เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง และอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้
เข้ารับการรักษาอาการซึมเศร้าได้อย่างอุ่นใจ ที่โรงพยาบาลแบงค็อก เมนทัล เฮลท์
โรงพยาบาลแบงค็อก เมนทัล เฮลท์ โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านจิตเวชในเครือโรงพยาบาลเวชธานี พร้อมให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอย่างใกล้ชิดโดยทีมสหสาขาวิชาชีพที่มากประสบการณ์ เทคโนโลยีครบครัน และกิจกรรมบำบัดที่หลากหลาย มีบริการทั้งแบบผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข นัดหมายและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 02-589-1889
Talk to Doctor
Call Us
Line BMHH