
“เพราะเธอไม่ดีพอ ฉันเลยนอกใจ”
“เรื่องทุกอย่างที่เกิดขึ้น มีสาเหตุมาจากเธอ”
“อย่าทำเรื่องเล็กให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ไหม”
หลายคนอาจจะเคยได้ยินประโยคหรือคำพูดที่บั่นทอนจิตใจและทำร้ายความรู้สึกจากคนอื่น และในหลายครั้งเป็นคำพูดจากคนที่เรารัก ทำให้รู้สึกไม่มั่นใจและไม่มีความสุข ซึ่งสิ่งนี้ในทางจิตวิทยาเรียกว่าการ Gaslighting เป็นรูปแบบการทารุณกรรมทางจิตใจ ส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์ที่เป็นพิษหรือ Toxic Relationship นั่นเอง
Gaslighting คืออะไร ?
Gaslighting คือ การกระทำที่บุคคลหนึ่งพยายามควบคุมทางจิตใจและบิดเบือนความเป็นจริง ทำให้เหยื่อรู้สึกคลางแคลงใจ สงสัย หรือสับสนกับความเป็นจริง จนส่งผลต่อความเชื่อมั่นในตัวเองและความสัมพันธ์ได้
การ Gaslighting คือ พฤติกรรม Manipulate ทางจิตใจอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นพฤติกรรมของคนที่พยายามควบคุมเหยื่อให้มีความเชื่อที่บิดเบือนและคล้อยตาม มักเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ หรือ Toxic Relationship ทำให้เหยื่อรู้สึกว่าตนเองเป็นฝ่ายผิด หรือสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง ซึ่งสามารถเกิดได้ในทุกความสัมพันธ์ ทั้งคู่รัก ครอบครัว หรือแม้แต่เพื่อนร่วมงาน
ประเภทของการ Gaslighting
Gaslighting มีหลากหลายรูปแบบ โดยสามารถแบ่งได้เป็นประเภทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
ทำให้เป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ (Trivializing)
ในความเป็นจริง ทุกอารมณ์และทุกความรู้สึกในทุกความสัมพันธ์มีความหมาย แต่ผู้กระทำพยายามลดทอนความสำคัญของความรู้สึกที่เหยื่อเผชิญอยู่
ตัวอย่างประโยค Gaslighting
- “ทำไมต้องทำให้เป็นเรื่องใหญ่ด้วย ?” เป็นการลดความสำคัญของปัญหา ทำให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ไม่ต้องสนใจ
- “เธอคิดมากไปเอง” เป็นการทำให้สงสัยในความรู้สึกของตนเอง
- “คุณอ่อนไหวไปหรือเปล่า ?” เป็นการทำให้รู้สึกว่าตนเองเป็นคนงี่เง่า ไม่มีเหตุผล
- “อย่าเวอร์ได้ไหม ?” เป็นการลดทอนความจริงจังของสถานการณ์
- “พูดเกินจริงไปหน่อยนะ” เป็นการทำให้เหยื่อรู้สึกตนเองทำผิด
- “แค่ล้อเล่น” เป็นการลดทอนความรุนแรงของการกระทำที่ไม่เหมาะสมหรือรุนแรง
ทำให้รู้สึกผิด (Blame-Shifting)
มีการโยนความผิดไปที่เหยื่อ ทำให้เหยื่อรู้สึกว่าตนเองคือต้นเหตุของปัญหาทุกอย่าง เป็นหนึ่งในวิธีการเลี่ยงความรับผิดชอบ และทำให้เหยื่อรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง โทษว่าทุก ๆ อย่างเกิดขึ้นเพราะตัวเอง
ตัวอย่างประโยค Gaslighting
- “ฉันไม่ได้เป็นคนผิด เธอต่างหาก” เป็นการปฏิเสธความรับผิดชอบและโยนความผิดไปที่เหยื่อ
- “คุณต่างหากที่เป็นคนชวนทะเลาะ ไม่ใช่ผม” เป็นการบิดเบือนความจริง
- “เพราะคุณไม่มีเวลาให้ไง ฉันถึงไปมีคนอื่น” เป็นการสร้างความรู้สึกผิดให้แก่เหยื่อ ในสิ่งที่เป็นความผิดของผู้พูดเอง
- “ถ้าฉันทำแบบนั้นก็เพราะเธอทำให้ฉันต้องทำ” เป็นการโยนความผิดกลับไปยังเหยื่อ
- “เธอทำให้ฉันเครียดจนต้องทำแบบนี้” เป็นการทำให้เหยื่อรู้สึกว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งหมด
ไม่ยอมรับความจริง (Denying)
ปฏิเสธสิ่งที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะเป็นความผิดต่อหน้า มีหลักฐานชัดเจน หรือทำให้เหยื่อสับสนกับความทรงจำของตัวเอง โดยอาจจะโมโหหรือว่าร้องไห้เพื่อให้สงสาร
ตัวอย่างประโยค Gaslighting
- “ฉันไม่ได้ทำแบบนั้น” เป็นการปฏิเสธความผิด แม้จะมีหลักฐานชัดเจน
- “เธอจำผิดแล้ว” เป็นการทำให้สงสัยความทรงจำของตนเอง
- “ไม่มีอะไรเกิดขึ้นจริง” เพื่อบอกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เป็นความจริง
- “เธอคิดมากไปเอง” เป็นการลดทอนความรู้สึก ทำให้รู้สึกผิดเกี่ยวกับความรู้สึกของตน
- “ฉันไม่เคยพูดแบบนั้น” เป็นการปฏิเสธคำพูดที่เคยกล่าวไว้ เพื่อบิดเบือนความจริง
- “มันไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย” เป็นการทำให้รู้สึกว่าความกังวลของเหยื่อไม่สมเหตุสมผล
บิดเบือนความจริง (Twisting)
คล้ายกับการไม่ยอมรับความจริง แต่จะไม่ใช่แค่ปฏิเสธ จะเป็นการเปลี่ยนคำพูดหรือสร้างเรื่องราวใหม่ที่แตกต่างไปจากความเป็นจริง
ตัวอย่างประโยค Gaslighting
- “ทำไมต้องทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ ?” เป็นการบิดเบือนความจริงโดยทำให้รู้สึกว่าความกังวลของตนไม่สำคัญ
- “ฉันแค่พูดเล่น ทำไมเธอถึงซีเรียสขนาดนี้ ?” เป็นการทำให้รู้สึกว่าอารมณ์ของตนไม่มีเหตุผล และไม่สำคัญ
- “ทุกคนเห็นว่าเธอเป็นคนอ่อนไหว” เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีให้แก่เหยื่อ
- “เธอคิดไปเอง” เป็นการทำให้สงสัยในความรู้สึกและการรับรู้ของตนว่าอยู่บนเหตุและผลหรือเปล่า

ผลกระทบต่อจิตใจเมื่อเหยื่อโดน Gaslighting
ในระยะแรก หลายคนอาจจะไม่ทันระมัดระวัง หรือไม่รู้ตัวว่าถูกควบคุมทางจิตใจ แต่หากโดน Gaslighting เป็นระยะเวลานาน ๆ จะค่อย ๆ ส่งผลกระทบต่อจิตใจที่รุนแรงขึ้นได้ โดยอาจจะทำให้มีความรู้สึกดังต่อไปนี้
- สูญเสียความมั่นใจในตัวเอง
- มีอาการวิตกกังวลและซึมเศร้า
- ตั้งคำถามกับความทรงจำของตนเอง
- ไม่กล้าตัดสินใจด้วยตัวเอง
- รู้สึกติดอยู่ในความสัมพันธ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
- รู้สึกโดดเดี่ยว และไม่สามารถอยู่ตามลำพังได้
สัญญาณเตือนว่าเรากำลังถูก Gaslighting
สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ผู้ที่ถูก Gaslighting ต้องรู้ตัวให้เร็วที่สุด และรีบออกจากความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ โดยมีสัญญาณเตือนที่สำคัญดังนี้
- รู้สึกผิดและต้องเป็นฝ่ายที่ต้องขอโทษอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยหรือว่าเรื่องใหญ่ แต่ทุกครั้งที่มีเรื่องขัดแย้ง ก็รู้สึกว่าเป็นความผิดของตัวเองทุกครั้ง
- ทำอะไรก็ผิดตลอด แม้ว่าจะพยายามทำดีแค่ไหนก็ตาม
- ไม่สามารถทำอะไรให้ถูกใจคนอื่นได้เลย รู้สึกว่าตัวเองโดนตำหนิอยู่เสมอ
- รู้สึกไม่เป็นตัวเอง ไม่ว่าจะอยู่กับคนรัก เพื่อน หรือคนในครอบครัว รู้สึกตัวเองแตกต่างและแปลกแยกจากคนอื่นอยู่เสมอ
- ไม่กล้าตัดสินใจ เพราะกลัวทำผิด ต้องพึ่งพาการตัดสินใจของผู้อื่นเสมอ รู้สึกว่าหากตัดสินใจด้วยตนเองจะต้องเกิดข้อผิดพลาด
- ผิดหวังในตัวเอง และรู้สึกวิตกกังวลอยู่ตลอดเวลา กลัวว่าต้องทำผิดพลาดต่อไปเรื่อย ๆ ไม่มีวันจบ
- ทำให้รู้สึกว่าคิดมากไปเอง ถูกลดทอนความสำคัญหรือความรู้สึก
การรับมือกับการโดน Gaslighting
สำหรับคนที่กำลังเผชิญหน้ากับ Gaslighting สามารถรับมือความสัมพันธ์ดังกล่าวได้ง่าย ๆ ดังต่อไปนี้
- ใจเย็นและมีสติ อย่าปล่อยให้คำพูดหรือการควบคุมของคนอื่นมีผลต่อจิตใจ ให้พิจารณาถึงเหตุและผล ไปจนถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
- พิจารณาถึงเหตุการณ์และพิจารณาความเป็นจริงอย่างตรงไปตรงมา อาจจะใช้วิธีจดบันทึก จากนั้นค่อย ๆ จำแนกข้อเท็จจริงต่าง ๆ ออกมาเป็นข้อ ๆ เพื่อพิจารณาอย่างรอบคอบ
- ปฏิเสธหรือพูดให้ชัดเจน แสดงจุดยืนของตนเอง และไม่ปล่อยให้คนอื่นมาบิดเบือนความจริง
- ขอความช่วยเหลือจากคนที่ไว้ใจได้ ออกมาจากความสัมพันธ์ดังกล่าว และพูดคุยกับคนใกล้ชิด
- ปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ ในกรณีที่เกิดภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวล
หากสังเกตได้ว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวโดน Gaslighting ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ในรูปแบบไหน ควรได้รับความช่วยเหลือ กันตนเองหรือเหยื่อให้ออกห่าง และหากถูกทำร้ายจิตใจอย่างรุนแรง ต้องการเยียวยาสภาพจิตใจ สามารถปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตบำบัด เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมได้ที่ Bangkok Mental Health Hospital (BMHH)โรงพยาบาลรักษาโรคซึมเศร้าในเครือโรงพยาบาลเวชธานี เราพร้อมอยู่เคียงข้างคุณในทุกช่วงเวลา
นัดหมายเข้าพบจิตแพทย์และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
โทรศัพท์: 02-589-1889
LINE Official Account: @bmhh
บทความที่เกี่ยวข้อง

EMDR คืออะไร ? การบำบัดเพื่อเยียวยาบาดแผลทางใจจากอดีต
สำหรับผู้ป่วยทางจิตเวชที่เกิดจากบาดแผลทางอารมณ์หรือประส […]

รู้จัก 4 ประเภทของไบโพลาร์ พร้อมสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา
โรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์สองขั้ว เป็นภาวะทางจิตเวชที่ส่ […]

ชนิดของโรคซึมเศร้า รู้เท่าทัน รับมือถูกวิธี
โรคซึมเศร้า อาการป่วยทางใจที่ไม่ใช่เพียงแค่มีความรู้สึก […]
Talk to Doctor
Call Us
Line BMHH