ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในไทยเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีคนไทยมากกว่า 1.5 ล้านคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โดยจากข้อมูลสถิติภาวะสังคมไทยที่เผยแพร่โดยสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ระบุว่าในไตรมาสหนึ่งของปี 2567 มีผู้เข้ารับการประเมินประมาณ 390,000 ราย สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และยังมีคนจำนวนมากที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า แต่ยังไม่รู้สึกตัว และไม่ได้พบแพทย์เพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ทำให้อาการยิ่งรุนแรง และเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายได้
ด้วยเหตุนี้ การทำความเข้าใจโดยละเอียดเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า การสำรวจตนเอง และแนวทางการพบแพทย์เพื่อรักษาโรคซึมเศร้าจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อรับมือได้อย่างเหมาะสม
“โรคซึมเศร้า” มะเร็งทางจิตใจ อย่าปล่อยไว้จนรุนแรง
โรคซึมเศร้า คือ โรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมของผู้ป่วย รวมถึงการดำเนินชีวิตประจำวัน ในบางกรณีอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยมีความคิดทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตาย การเข้ารับการรักษาโดยเร็วตั้งแต่เริ่มมีอาการจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยหลายคนมักมองข้ามอาการของโรคซึมเศร้า คิดว่าเป็นเพียงภาวะอารมณ์ชั่วคราว ไม่ได้คาดคิดว่าจะต้องเข้ารับการรักษา ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากมารักษาก็ต่อเมื่อมีอาการรุนแรงเรื้อรัง
ก่อนอื่น ต้องเข้าใจก่อนว่า โรคซึมเศร้าสามารถรักษาให้หายได้ หากเข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ที่สำคัญคือ ไม่จำเป็นต้องรอให้มีอาการหนัก หรือป่วยเป็นโรคซึมเศร้าก่อนถึงจะมาพบแพทย์ได้ แท้ที่จริงผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีความเครียดสูง ผู้ที่ได้รับความกระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง สามารถเข้ามาพบแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยง และได้รับการบำบัดก่อนที่จะมีอาการรุนแรงได้
ดังนั้น คำถามที่ว่าโรคซึมเศร้าอันตรายหรือไม่ ? อาจจะตอบได้ว่า แม้ว่าตัวโรคเองจะไม่ได้ทำลายอวัยวะหรือระบบต่าง ๆ ของร่างกายให้อันตรายถึงชีวิต แต่ก็เปรียบเสมือนมะเร็งทางจิตใจ ที่สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว หากไม่รีบเข้ารับการรักษา อาจจะทำให้ผู้ป่วยคิดสั้นหรือทำร้ายตัวเองได้เช่นเดียวกัน
แนวทางการรับมือกับโรคซึมเศร้า
หลายคนอาจจะแยกไม่ออกว่า “อารมณ์เศร้า” “ภาวะซึมเศร้า” และ “โรคซึมเศร้า” ต่างกันอย่างไร
อารมณ์เศร้า จะเป็นภาวะอารมณ์ด้านลบที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว เมื่อเผชิญกับความสูญเสีย หรือความผิดหวังต่าง ๆ ส่วนภาวะซึมเศร้าจะทำให้รู้สึกทุกข์ทรมาน เกิดความสับสน เสียใจ และผิดหวังจากเหตุการณ์ร้าย ๆ ที่กระทบต่อจิตใจ ขณะที่โรคซึมเศร้า จะมีอารมณ์เศร้าหรืออารมณ์ด้านลบยาวนานและเรื้อรังต่อเนื่องเกินกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป โดยปัจจัยที่พบได้บ่อยเกิดจากสารสื่อประสาทไม่สมดุล
แล้วเมื่อไรที่เราต้องไปพบแพทย์รักษาโรคซึมเศร้า ต้องรอให้แน่ใจว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้าก่อนหรือไม่ ?
ที่จริงแล้ว ผู้ป่วยสามารถไปพบแพทย์ได้ตั้งแต่เกิดความเครียดหรือมีอารมณ์เศร้า โดยแพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสม ในบางรายอาจยังไม่จำเป็นต้องกินยาต้านเศร้าแต่จะใช้วิธีบำบัดทางจิตใจเพื่อรักษาอาการให้ดีขึ้น
วิธีสำรวจตนเองว่าเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าหรือไม่ ?
สำหรับผู้ที่ไม่แน่ใจว่าความคิดหรือความรู้สึกที่เป็นอยู่ขณะนี้ คืออาการของโรคซึมเศร้าหรือมีความเสี่ยงของโรคหรือไม่ สามารถทำแบบประเมินคัดกรองโรคซึมเศร้า หรือลองสำรวจความคิดและความรู้สึกของตนเองในเบื้องต้นดังต่อไปนี้
- ไม่มีความสุขกับสิ่งรอบตัว แม้แต่กับกิจกรรมที่เคยชอบ
- รู้สึกเศร้า หงุดหงิด เบื่อ ตลอดทั้งวัน แม้ว่าจะไม่มีเหตุการณ์ใด ๆ ที่กระทบจิตใจก็ตาม
- พฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป กินมากขึ้นหรือน้อยลงจนผิดปกติ
- ไม่อยากทำอะไรเลย บางคนอาจอยากนอนบนเตียงทั้งวัน
- ขาดความกระตือรือร้น หรือบางคนอาจจะรู้สึกจิตใจว้าวุ่น กระวนกระวาย ไม่สามารถสงบจิตใจได้
- ไม่มีสมาธิในการเรียนหรือทำงาน ตัดสินใจในสิ่งง่าย ๆ ไม่ได้
- นอนไม่หลับ หรือนอนมากจนผิดปกติ
- โทษตัวเอง รู้สึกว่าทุกอย่างและทุกเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของตัวเอง
- อยากตาย หรืออยากทำร้ายตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองอยู่ไปก็ไร้ค่า ไม่มีใครสนใจ
เป็นโรคซึมเศร้า ทำไมต้องพบแพทย์ ?
หลายคนมีความเชื่อว่า การพบจิตแพทย์หรือการเข้ารับการบำบัดทางจิตเป็นเรื่องของคนอ่อนแอ และเกรงว่าคนอื่นจะคิดว่าตนเองป่วยทางจิต
ที่จริงแล้ว หากว่าผู้ป่วยมีอาการโรคซึมเศร้า การพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการอย่างละเอียดมีความสำคัญอย่างมาก เพราะมีโรคทางจิตเวชและโรคทางร่างกายหลายโรคที่มีอาการคล้ายโรคซึมเศร้า รวมถึงมียาบางชนิดที่ทำให้มีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย การเข้ารับการตรวจจะช่วยให้ทราบว่า แท้จริงแล้วเป็นโรคทางกายหรือโรคทางใจ เพื่อที่จะรักษาได้อย่างถูกต้อง
ด้วยเหตุนี้ การพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยจะช่วยทำให้ทราบสาเหตุที่แท้จริง และรักษาอย่างตรงจุด ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานกับความรู้สึกด้านลบภายในจิตใจของตนเอง
แนวทางการรักษาโรคซึมเศร้า
หลังจากที่สอบถามอาการ ซักประวัติอย่างละเอียด รวมถึงการตรวจร่างกาย เพื่อให้แน่ใจว่าสาเหตุที่แท้จริงไม่ได้เกิดจากความเจ็บป่วยของโรคทางร่างกายแล้ว แพทย์จะประเมินความรุนแรงของอาการ และมีแนวทางการรักษาดังต่อไปนี้
การรักษาทางจิตใจ
หากว่าอาการโรคซึมเศร้าไม่รุนแรง แพทย์จะใช้การรักษาทางจิตใจ ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ ดังนี้
- จิตบำบัดเชิงลึก เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจสิ่งที่ตกค้างอยู่ในจิตใจ อย่างปมชีวิตในวัยเด็ก หรือเหตุการณ์ที่กระทบจิตใจ ที่เป็นสาเหตุทำให้เป็นโรคซึมเศร้า เมื่อคลายปมได้ อาการซึมเศร้าก็จะดีขึ้นตามไปด้วย
- การปรับความคิดและพฤติกรรม แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยมีการปรับความคิดด้านลบให้น้อยลง และปรับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
- การปรับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล อาจจะมีการนำบุคคลใกล้ชิดมาร่วมการรักษา หรือแนะนำให้ผู้ป่วยปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมให้ดีมากยิ่งขึ้น
การรักษาด้วยยาต้านเศร้า
สำหรับผู้ป่วยที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับสารสื่อประสาทหรือสารเคมีในสมอง หรือมีอาการซึมเศร้าอย่างรุนแรง แพทย์อาจจะใช้ยาต้านเศร้าเพื่อบรรเทาอาการ แนะนำให้กินยาอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์กำหนด เพื่อประสิทธิภาพในการรักษา
การรักษาโรคซึมเศร้าในแต่ละช่วงอายุ
โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย ซึ่งแต่ละวัยก็มีสาเหตุและแนวทางการรักษาที่แตกต่างกันออกไป
- วัยเด็ก มักเกิดจากความเครียดและความกดดันจากการเลี้ยงดู การดูแลและรักษาจะเริ่มที่การทำจิตบำบัด ผ่านการเล่นบำบัด การปรับพฤติกรรม ไปจนถึงการจัดการกับความเครียด เพื่อให้เด็กเข้าใจตนเองมากยิ่งขึ้น โดยต้องอาศัยการสนับสนุนของพ่อแม่และผู้ที่อยู่รอบตัว
- วัยรุ่น เกิดขึ้นจากหลากหลายสาเหตุ ทั้งกรรมพันธุ์ สภาพแวดล้อม สังคม หากเป็นอาการในระยะแรก ๆ ที่ไม่รุนแรง จะรักษาโดยการทำจิตบำบัดและปรับความคิดพฤติกรรม แต่หากไม่ดีขึ้น อาจพิจารณาให้กินยาต้านเศร้า เพื่อปรับสมดุลสารเคมีในสมอง
- ผู้ใหญ่ มักเกิดจากพันธุกรรมและสภาพแวดล้อมหรือเหตุการณ์ที่สะสมมาตั้งแต่เด็ก การรักษาจะคล้ายกับวัยรุ่น คือ หากอาการไม่รุนแรงจะใช้วิธีการทำจิตบำบัด ปรับความคิดและพฤติกรรม ไปจนถึงการปรับสภาพแวดล้อมรอบตัวผู้ป่วย แต่หากว่ามีอาการรุนแรงอาจจะต้องกินยาต้านเศร้า เพื่อลดความเสี่ยงในการคิดทำร้ายตัวเอง
- ผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มเสี่ยงป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เพราะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม รวมถึงมีภาวะเจ็บป่วยรุมเร้า ส่วนใหญ่แพทย์จะให้ยาต้านเศร้าเพื่อบรรเทาอาการ และใช้วิธีจิตบำบัดร่วมด้วย
- คุณแม่หลังคลอด มักมีสาเหตุจากการที่ฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากมีอาการรุนแรงแพทย์จะให้กินยาต้านเศร้า หรือรักษาโดยการทำจิตบำบัด ร่วมกับการออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ
สำหรับใครที่กำลังสงสัยว่าตน เองกำลังป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือมีภาวะซึมเศร้า มีการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม สามารถนัดหมายกับแพทย์เฉพาะทางได้ที่ Bangkok Mental Health Hospital โรงพยาบาลจิตเวชในเครือโรงพยาบาลเวชธานี ดูแลโดยทีมสหสาขาวิชาชีพเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต ดูแลด้วยความใส่ใจอยู่เคียงข้างผู้รับบริการ พร้อมให้คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยและครอบครัว เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ทุกคน
สามารถนัดหมายล่วงหน้าได้ที่
โทรศัพท์: 02-589-1889
LINE Official Account: @bmhh
บทความที่เกี่ยวข้อง
ก้าวข้ามผ่านความทุกข์ด้วยพลังของการบำบัด
ในสังคมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบและความกดดัน การรักษาสุขภาพจิตกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้การดูแลสุขภาพร่างกาย
GAD เมื่อความกังวลกลายเป็นปัญหา
ทุกคนย่อมมีความกังวลใจบ้างเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน แต่ความกังวลที่มากเกินไปและต่อเนื่องเป็นเวลานานจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
บาดแผลที่เกิดขึ้นในใจเด็ก อาจเสี่ยงเป็น PTSD
โรค PTSD หรือโรคเครียดหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ เป็นโรคจิตเวชที่สามารถเกิดได้กับทุกคนที่ประสบเหตุการณ์รุนแรงหรือเหตุการณ์สะเทือนใจมา
Talk to Doctor
Call Us
Line BMHH