ภาวะอาการเหนื่อยล้าทางอารมณ์ ท้อแท้กับการใช้ชีวิตและการทำงาน จนทำให้ร่างกายรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีสมาธิ จนกระทั่งรู้สึกสิ้นหวัง ไม่อยากทำอะไร นี่อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณกำลังประสบปัญหา “Burnout Syndrome” หรือภาวะหมดไฟในการทำงานก็เป็นได้
อาการหมดไฟจากภาวะ Burnout Syndrome
Burnout Syndrome คือ ภาวะที่บุคคลเกิดความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ ซึ่งสะสมมาอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลพวงมาจากความเครียดและความกดดันในที่ทำงาน จนทำให้รู้สึกหมดแรง หมดใจ หมดไฟในการใช้ชีวิต ตลอดจนการทำงาน
สภาวะนี้อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายและสมอง ไม่ว่าจะเป็นประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง การบริหารความสัมพันธ์กับคนรอบข้างที่เปลี่ยนไป จนในที่สุดความหมดแรง หมดใจ หมดไฟ ก็จะเริ่มกัดกินความรู้สึกภายใน ทำให้เกิดผลเสียต่อจิตใจและอารมณ์ ตลอดจนนำไปสู่อาการป่วยและโรคทางจิตเวช เช่น อาการนอนไม่หลับ โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และอื่น ๆ อีกมากมาย อย่างไรก็ตาม อาการป่วยเหล่านี้เป็นเพียงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าการเข้าสู่ภาวะ Burnout Syndrome จะเท่ากับการเป็นผู้ป่วยโรคทางจิตเวช
ระยะการทำงาน ก่อนเข้าสู่ภาวะอาการ Burnout Syndrome
ก่อนที่บุคคลจะเข้าสู่ภาวะ Burnout Syndrome อย่างเต็มรูปแบบ มักจะผ่านระยะต่าง ๆ ที่แสดงถึงความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และพฤติกรรมในการทำงาน โดยสามารถแบ่งออกเป็น 5 ระยะหลัก ดังนี้
- ระยะฮันนีมูน (The Honeymoon) ช่วงเริ่มแรกของการทำงาน จะรู้สึกถึงความตั้งใจ พยายามปรับตัวเข้ากับเพื่อนร่วมงาน และองค์กร พร้อมลุยงานเต็มที่
- ระยะรู้สึกตัว (The Awakening) เริ่มรู้สึกถึงความเป็นจริง มองในมุมกว้างมากขึ้น จนอาจทำให้รู้สึกถึงความไม่คุ้มค่าในการทำงาน ทั้งในแง่ของผลตอบแทน การเป็นที่ยอมรับ โอกาสการเติบโต จนอาจทำให้รู้สึกคับข้องใจและเหนื่อยล้าได้
- ระยะไฟตก (Brownout) ความรู้สึกเหนื่อยล้าเรื้อรัง จะแสดงอาการหงุดหงิดง่ายขึ้นอย่างชัดเจน และอาจมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อหนีความคับข้องใจ เช่น ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ดื่มสุรา สังสรรค์ ส่งผลให้ความสามารถในการทำงานลดลง หรือมีผลกระทบกับความสัมพันธ์ในที่ทำงาน
- ระยะหมดไฟเต็มที่ (Full Scale of Burnout) หากปล่อยให้ช่วงไฟตกเรื้อรัง และไม่ได้รับการแก้ไข อาจทำให้เข้าสู่ระยะหมดไฟเต็มที่ ซึ่งจะมีความรู้สึกสิ้นหวัง ล้มเหลว สูญเสียความมั่นใจในตนเอง และกระทบร้ายแรงจนอยากหยุดพัก หรือลาออกได้
- ระยะฟื้นตัว (The Phoenix Phenomenon) ระยะหลังจากหมดไฟเต็มที่ เมื่อหยุดพักไปโดยปริยาย จิตใจก็จะได้รับการฟื้นฟู เพราะมีโอกาสได้ผ่อนคลายและพักผ่อน ทำให้สามารถกลับมาปรับตัวเอง หางานใหม่ หรือปรับพฤติกรรมการทำงาน ตั้งเป้าหมายเพื่อความสำเร็จได้อีกครั้ง
3 กลุ่มอาการจากภาวะ Burnout Syndrome
- ความเหนื่อยล้าทางอารมณ์และรู้สึกหมดใจในการทำงาน (Emotional Exhaustion) เป็นอาการที่รู้สึกสูญเสียพลังงาน มีภาวะอ่อนล้า อ่อนเพลีย และหมดแรงเมื่อหมดเวลาทำงาน
- ความรู้สึกแปลกแยกจากบุคคลอื่น (Depersonalization) กลุ่มอาการที่รู้สึกถึงความห่างเหินจากเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า และบุคคลอื่น ๆ ในที่ทำงาน ทำให้รู้สึกเฉยชา ไร้ชีวิต และไม่มีความผูกพันกับบุคคล ตลอดจนองค์กรที่สังกัดอยู่
- ความรู้สึกด้อยค่าในตนเอง (Low Self-Esteem) กลุ่มอาการที่รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ไร้ความสามารถ มีความนับถือในตัวเองต่ำ เพราะรู้สึกล้มเหลว ไม่ประสบความสำเร็จในการทำงาน ไม่สามารถรับมือและแก้ไขปัญหาใด ๆ ได้ จนทำให้เกิดอาการหมดไฟในการทำงาน
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะอาการหมดไฟ
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการหมดไฟ โดยมากมักเกิดจากได้รับแรงกดดันสะสมจากการทำงาน เช่น อยู่ในบรรยากาศการทำงานที่ตึงเครียด ภาระงานที่หนัก ตลอดจนการมีชั่วโมงทำงานที่ยาวนานเกินไป รวมไปถึงการมีปฏิสัมพันธ์ที่ไม่ดีระหว่างบุคคลรอบตัว ซึ่งเกิดมานานและสะสมอย่างต่อเนื่อง และอาจนำไปสู่ภาวะเครียดเรื้อรัง โดยอาจยกตัวอย่างสาเหตุหลัก ๆ ดังนี้
- เกิดความเครียดสะสมจากการทำงาน จนกลายเป็นภาวะเรื้อรัง ไม่ว่าจะมาจากความกดดันในการทำงาน เดดไลน์รัดตัว หรือแม้กระทั่งปัญหายิบย่อยในที่ทำงาน ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการหมดไฟได้ด้วยกันทั้งสิ้น
- ภาระงานหนักเกินไป เช่น จำนวนงานที่มากกว่าเวลาทำงาน งานยากแต่เวลาจำกัด ต้องทำงานหลายอย่างพร้อมกัน หรือทำงานที่เหนือความสามารถ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเครียด เหนื่อยล้า และนำไปสู่ภาวะหมดไฟ
- ขาดโอกาสเติบโตในหน้าที่การงาน ทำงานมานานแต่ไม่เห็นลู่ทางที่จะเติบโต ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้สิ่งใหม่ หรือไม่มีโอกาสที่จะก้าวหน้าในสายงาน ทำให้คนทำงานเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย ท้อแท้ หมดกำลังใจ
- ความไม่สมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน อาจเกิดจากการทุ่มเทให้งานมากเกินไป หรือภาระงานหนัก จนทำให้ไม่สามารถบริหารเวลาได้ ส่งผลต่อสมดุลของเวลาชีวิต ซึ่งจะนำไปสู่ความเครียด ความเหนื่อยล้า และเข้าสู่ภาวะอาการหมดไฟได้ในที่ส
วิธีรับมือกับอาการหมดไฟในการทำงาน
สำหรับคนที่กำลังเผชิญหน้ากับ Burnout Syndrome จนกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงาน และทำให้มีปัญหา ทั้งต่อการบริหารจัดการงาน และความสัมพันธ์กับคนในที่ทำงาน คุณสามารถรับมือเพื่อจัดการกับภาวะอาการหมดไฟได้ ดังนี้
- จัดสรรเวลาพักผ่อน ควรนอนหลับให้เพียงพออย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมตัวเอง ฟื้นคืนจากความเหนื่อยล้า ลดความเครียด เพิ่มสมาธิและความสดใสในการทำงาน
- เพิ่มการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินด้วยการออกกำลังกาย อย่างน้อย 30 นาที เป็นเวลา 3-5 วันต่อสัปดาห์ เพื่อให้ร่างกายรู้สึกกระปรี้กระเปร่า ขจัดความเครียดสะสม ลดโอกาสหมดไฟจากความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ได้
- ฝึกทำสมาธิ ทำจิตใจให้สงบ จะช่วยทำให้รู้สึกถึงความผ่อนคลาย พร้อมช่วยลดความคิดฟุ้งซ่าน และรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดีขึ้น
- ปลีกเวลาว่าง หากิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจ เช่น อ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง หรือไปท่องเที่ยว เพื่อให้ร่างกายและจิตใจได้ผ่อนคลายจากการทำงานหนัก
- พูดคุยกับคนที่ไว้ใจ การระบายความรู้สึกกับคนสนิท เช่น เพื่อน ครอบครัว หรือผู้เชี่ยวชาญ ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย ลดความเครียด และได้มุมมองใหม่ ๆ ในการใช้ชีวิต
สรุปแล้วอาการหมดไฟ หรือ Burnout Syndrome คือภาวะที่บุคคลต้องเผชิญหน้ากับความเครียดเรื้อรัง จนกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงาน และส่งผลต่อสภาพจิตใจ ซึ่งแน่นอนว่าในเบื้องต้นภาวะนี้ไม่ได้ถือว่าเป็นอาการป่วยทางจิตเวช แต่ถ้าหากไม่รับมือให้เหมาะสม ปล่อยทิ้งไว้ยาวนานก็อาจจะส่งผลให้เกิดโรคอื่น ๆ ทางด้านจิตใจและอารมณ์ตามมาได้ในที่สุด
พร้อมรับมือกับภาวะหมดไฟในการทำงานและใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่น เพียงเข้ามาปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาที่ Bangkok Mental Health Hospital โรงพยาบาลจิตเวชในเครือโรงพยาบาลเวชธานี เรายินดีที่จะช่วยเหลือ รับฟังทุกความเครียดจากการทำงาน พร้อมเสนอแนะวิธีรับมือที่เหมาะสม เพื่อให้คุณสามารถผ่านทุกช่วงเวลาไปได้อย่างราบรื่น
สามารถนัดหมายล่วงหน้าได้ที่
โทรศัพท์: 02-589-1889
LINE Official Account: @bmhh
Location & Google Map: ติวานนท์ 39
Website: bangkokmentalhealthhospital.com
บทความที่เกี่ยวข้อง
ก้าวข้ามผ่านความทุกข์ด้วยพลังของการบำบัด
ในสังคมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบและความกดดัน การรักษาสุขภาพจิตกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้การดูแลสุขภาพร่างกาย
GAD เมื่อความกังวลกลายเป็นปัญหา
ทุกคนย่อมมีความกังวลใจบ้างเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน แต่ความกังวลที่มากเกินไปและต่อเนื่องเป็นเวลานานจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
บาดแผลที่เกิดขึ้นในใจเด็ก อาจเสี่ยงเป็น PTSD
โรค PTSD หรือโรคเครียดหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ เป็นโรคจิตเวชที่สามารถเกิดได้กับทุกคนที่ประสบเหตุการณ์รุนแรงหรือเหตุการณ์สะเทือนใจมา
Talk to Doctor
Call Us
Line BMHH