โรคสมองเสื่อม เป็นหนึ่งในโรคที่พบบ่อยของผู้สูงอายุ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน เกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ การรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค หากพบว่าผู้สูงอายุที่บ้านเริ่มมีอาการหลง ๆ ลืม ๆ หรือพูดจาไม่รู้เรื่อง แนะนำให้พามาพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด
โรคสมองเสื่อมคืออะไร คนไทยเป็นกันเยอะจริงไหม
โรคสมองเสื่อม คือ ภาวะที่สมองมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลงอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลต่อความคิด การวิเคราะห์ และที่เห็นได้ชัดคือ ความทรงจำ หลายคนจึงมักพบผู้สูงอายุมีอาการหลง ๆ ลืม ๆ จำคำพูดหรือสิ่งต่าง ๆ ไม่ได้ และสุดท้าย อาจจะทำให้การใช้ภาษา อารมณ์ และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
หลายคนอาจจะมองว่าภาวะสมองเสื่อม เป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องเผชิญเมื่อเข้าสู่วัยชรา แต่ในความเป็นจริงแล้ว ภาวะสมองเสื่อมไม่ใช่เรื่องปกติ และส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ในบางรายอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ดังนั้น การสังเกตอาการโรคสมองเสื่อมและพามารักษาอย่างต่อเนื่องจะช่วยชะลออาการได้
จากสถิติผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมในปี พ.ศ. 2565 พบว่า ประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคนี้ทั้งสิ้น 770,000 คน หรือประมาณร้อยละ 6 และมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นทุกปี การเฝ้าระวังและสังเกตอาการผิดปกติ เพื่อนำผู้ป่วยมารักษาได้อย่างทันท่วงที จึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น เพื่อลดอาการและผลกระทบต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
โรคสมองเสื่อมมีสาเหตุมาจากอะไร
โรคสมองเสื่อมเกิดขึ้นจากหลากหลายสาเหตุ โดยสามารถแบ่งเป็น แบบที่รักษาหายขาด และแบบที่รักษาไม่หายขาด ดังนี้
สาเหตุของโรคสมองเสื่อมที่สามารถรักษาให้หายขาดได้
- โรคซึมเศร้า
- เนื้องอก มีเลือดออกในสมอง
- ไทรอยด์
- ติดเชื้อซิฟิลิสในสมอง
- ขาดวิตามินบี 12
- ยาบางชนิด
สาเหตุของโรคสมองเสื่อมที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
- อัลไซเมอร์
- หลอดเลือดสมองตีบ
- พาร์กินสัน
- ฮันติงตัน
อย่างไรก็ตาม หลายคนมักจะสังเกตเห็นอาการของโรคสมองเสื่อมจากโรคหรือการติดเชื้อบางอย่าง แต่ยังไม่สามารถระบุปัจจัยเสี่ยงที่ชัดเจนได้ แต่ก็มีการวิจัยถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมมากยิ่งขึ้น ได้แก่ อายุ กรรมพันธุ์ เชื้อชาติ รวมถึงผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง ผู้ที่สูบบุหรี่ และผู้ที่สมองได้รับการกระทบกระเทือน
อาการสมองเสื่อมที่พบบ่อย ๆ
โรคสมองเสื่อม เป็นอาการที่สมองค่อย ๆ เสื่อมประสิทธิภาพลง ส่งผลต่อความทรงจำ การใช้สมาธิ การใช้ภาษา เหตุผล และการตัดสินใจ ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมและอารมณ์ โดยมีสัญญาณเตือนและอาการที่สังเกตเห็นได้ชัด ดังนี้
อาการสมองเสื่อมในระยะเริ่มต้น
- มีอาการหลงลืมที่ผิดปกติ เช่น ลืมชื่อเพื่อนสนิทหรือคนในครอบครัว ความทรงจำเก่า ๆ ที่เคยจำได้ เส้นทางประจำที่ใช้เดินทาง หรือเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น
- มีปัญหาเรื่องการใช้คำ หรือภาษา ไม่สามารถนึกคำง่าย ๆ ที่เคยใช้
- บุคลิกเริ่มเปลี่ยนไปจากเดิม รวมถึงเรื่องอารมณ์และความรู้สึก
- ไม่สามารถทำงานให้เสร็จสิ้นได้
อาการสมองเสื่อมในระยะปานกลาง
- ความทรงจำต่าง ๆ แย่ลง ไม่สามารถจดจำอะไรได้
- หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป
อาการสมองเสื่อมในระยะรุนแรง
- ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวันได้
- ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้
- มีปัญหาเรื่องการกิน ไปถึงการขับถ่าย
หลายคนอาจจะสับสนระหว่างความหลงลืมในชีวิตประจำวัน และความหลงลืมที่มาจากโรคสมองเสื่อม หากไม่แน่ใจ แนะนำให้พบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยอย่างละเอียด โดยเฉพาะผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง เพราะผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมมักมีอาการทรุดลงไปเรื่อย ๆ หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี อาจจะทำให้อาการยิ่งทรุดลงอย่างรวดเร็ว
ประเภทของโรคสมองเสื่อม
หลายคนมักจะเข้าใจผิด คิดว่าโรคสมองเสื่อมหมายถึงโรคอัลไซเมอร์เพียงอย่างเดียว แท้จริงแล้ว สามารถแบ่งได้เป็นหลากหลายประเภท ดังต่อไปนี้
โรคอัลไซเมอร์
เป็นโรคสมองเสื่อมที่พบได้บ่อย ซึ่งยังไม่สามารถทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรค แต่มักจะเกิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ สูบบุหรี่ หรือกินเหล้าเป็นประจำ ทำให้มีอาการหลงลืม และเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ ไปจนถึงการไม่สามารถกลืนอาหารหรือขับถ่ายได้ด้วยตนเอง
โรคหลอดเลือดในสมองตีบ
เป็นเหตุทำให้เนื้อสมองเสียหาย และสูญเสียความทรงจำบางส่วนไป อาการจะแย่ลงหรือไม่นั้น มักขึ้นอยู่กับว่ามีปัญหาหลอดเลือดในสมองตีบเพิ่มมากขึ้นหรือไม่
โรคพาร์กินสัน
เป็นการเสื่อมของสมองในส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย ส่งผลต่อความจำและการเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ดังที่จะเห็นได้จากการที่ผู้ป่วยมักมีอาการสั่น เกร็ง เคลื่อนไหวและทำอะไรได้ช้าลง
โรคฮันติงตัน
เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของระบบประสาท เป็นหนึ่งในโรคสมองเสื่อมที่มีปัจจัยเสี่ยงจากพันธุกรรม ทำให้บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง มีความจำ การคิด และการตัดสินใจที่เปลี่ยนแปลงไป
การรักษาโรคสมองเสื่อม
การรักษาโรคสมองเสื่อมในปัจจุบันจะรักษาตามสาเหตุของอาการ ซึ่งบางสาเหตุอย่างอัลไซเมอร์ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงชะลอและประคับประคองอาการเท่านั้น ซึ่งมีแนวทางการรักษาดังต่อไปนี้
- รักษาที่สาเหตุของโรค เช่น หากว่าเกิดจากต่อมไทรอยด์ ซึ่งเป็นสาเหตุที่รักษาหายได้ จะทำการรักษาโรคไทรอยด์ เพื่อหยุดความเสื่อมดังกล่าว แต่หากว่าเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาได้ ก็จะประคับประคองอาการไม่ให้ทรุดลงกว่าเดิม
- ใช้ยาในการชะลออาการ ส่วนใหญ่เป็นยาที่ใช้เพื่อชะลอโรคสมองเสื่อม แต่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
- ดูแลอย่างใกล้ชิด และการปรับพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น การพาไปเจอกับเพื่อนใหม่ ๆ การออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน ออกกำลังกายเป็นประจำ กินอาหารที่มีประโยชน์ งดการสูบบุหรี่หรือดื่มเหล้า
แนวทางการดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม
การดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมมีความสำคัญมาก เนื่องจากจะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ และดูแลหลายอย่าง ทั้งเรื่องสภาพแวดล้อม การทำกิจวัตรประจำวัน การกินยา และดูแลในเรื่องของจิตใจ โดยมีคำแนะนำเบื้องต้น ดังต่อไปนี้
- ทำความเข้าใจอาการ แนะนำให้ผู้ดูแลหรือบุคคลใกล้ชิดศึกษาและทำความเข้าใจอาการของโรคสมองเสื่อมอย่างลึกซึ้ง เพื่อที่จะโต้ตอบกับผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง ไม่มีอารมณ์ทางลบ หรือหงุดหงิด
- จัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ไม่มีสิ่งของที่เป็นอันตราย มีการจัดวางสิ่งของให้เป็นที่เป็นทาง เพื่อป้องกันความสับสนทั้งของผู้ดูแลและผู้ป่วย
- ทำจิตใจให้ผ่องใส และร่าเริง เพราะผู้ป่วยยังสามารถจับอารมณ์ความรู้สึกได้อยู่ การที่ผู้ดูแลมีสภาวะจิตใจที่ดี ก็จะส่งผลต่อตัวผู้ป่วยด้วย
- ทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยฝึกสมอง แนะนำเป็นกิจกรรมง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน อย่างเช่น การเล่นเกมฝึกสมอง การอ่านหนังสือ เดินเล่น ร้องเพลง เล่นดนตรี ออกกำลังกาย
- พูดและสื่อสารเป็นประจำ อาจจะเป็นการพูดคุยในเรื่องทั่วไป หรืออธิบายการดูแลและขั้นตอนต่าง ๆ
- มีป้ายหรือสิ่งของที่แจ้งเบอร์ติดต่อกลับติดตัวผู้ป่วย ป้องกันการเดินหลงทาง หรือสูญหาย
หากสังเกตเห็นบุคคลใกล้ชิดมีอาการของโรคสมองเสื่อม หรือมีความเสี่ยง แนะนำให้พาผู้ป่วยมาตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เพื่อวางแผนการรักษาอย่างถูกวิธีที่ โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital โรงพยาบาลจิตเวชในเครือโรงพยาบาลเวชธานี เราพร้อมที่จะอยู่เคียงข้างในทุกสถานการณ์ เพื่อให้คุณสามารถผ่านทุกช่วงเวลาไปได้อย่างราบรื่น
สามารถนัดหมายล่วงหน้าได้ที่
โทรศัพท์: 02-589-1889
LINE Official Account: @bmhh
Location & Google Map: ติวานนท์ 39
Website: bangkokmentalhealthhospital.com
บทความที่เกี่ยวข้อง
นอนไม่หลับ นับแกะช่วยได้จริงหรือ?
อาการนอนไม่หลับเรื้อรัง เป็นปัญหาในการนอนหลับที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะในวัยทำงานขึ้นไป โดยอาจมีอาการหลับยาก ตื่นกลางดึกบ่อย
เมื่อคนใกล้ตัวเป็นซึมเศร้า ความเข้าใจคือยาที่ดีที่สุด
การมีคนใกล้ตัวเป็นโรคซึมเศร้าเป็นเรื่องที่ท้าทายและต้องการความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง การรับมืออย่างเหมาะสม นอกจากจะช่วยให้ผู้ป่วย
กลัวการปฏิเสธ อยากให้ทุกคนรัก จุดเริ่มต้นของการเป็น “People Pleaser”
หากคุณเป็นคนที่มักตอบรับทุกคำขอ ชอบเอาใจใส่คนอื่นเป็นพิเศษ หรือพยายามทำให้ทุกคนพึงพอใจแม้ต้องเสียสละความสุขของตัวเอง
Talk to Doctor
Call Us
Line BMHH