
สำหรับผู้ป่วยทางจิตเวชที่เกิดจากบาดแผลทางอารมณ์หรือประสบการณ์ที่เจ็บปวดในอดีต การบำบัดด้วยวิธี EMDR จะช่วยปลดปล่อยจากความรู้สึกผิด ความกลัว หรือความทรงจำอันเลวร้าย เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยจิตเวชสามารถได้รับการเยียวยาและกลับมารักตัวเองได้ในที่สุด
EMDR คืออะไร ช่วยเรื่องอะไร ?
EMDR หรือ Eye Movement Desensitization and Reprocessing คือกระบวนการบำบัดทางจิตวิทยาที่ใช้หลักการกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้งสองด้าน (Bilateral Stimulation) ของร่างกายพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวของดวงตา การฟังเสียง หรือการสัมผัส เช่น
- การกลอกตาไปมา
- การฟังเสียงสลับข้าง
- การแตะที่มือหรือไหล่เป็นจังหวะ
การกระตุ้นสมองในลักษณะนี้ช่วยให้สมองประมวลผลความทรงจำที่ฝังลึกและติดค้างอยู่ในระบบประสาท ให้สามารถไหลเวียนออกไปได้ ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของผู้ป่วย ดังนี้
- เปลี่ยนมุมมองต่ออดีต จากความรู้สึกผิดและความกลัว กลายเป็นความเข้าใจและการให้อภัยตัวเอง
- ลดอารมณ์ด้านลบ เช่น ความวิตกกังวล ความโกรธ และความเศร้า ที่อาจสะสมมายาวนาน
- สร้างความมั่นคงทางอารมณ์ ทำให้ผู้ป่วยมีแนวคิดเกี่ยวกับตัวเองที่ดีขึ้น และเริ่มมองเห็นคุณค่าในตัวเอง
ขั้นตอนการบำบัดทางจิตเวชแนว EMDR
การบำบัด EMDR เป็นกระบวนการที่ต้องดำเนินไปตามลำดับ เพื่อช่วยให้สมองสามารถปรับเปลี่ยนความทรงจำที่ไม่พึงประสงค์อย่างเป็นระบบ โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
- ประเมินอารมณ์และสภาพจิตใจของผู้ป่วย
นักบำบัดจะใช้เวลาทำความเข้าใจประสบการณ์และความรู้สึกของผู้รับการบำบัดอย่างลึกซึ้ง ด้วยการพูดคุย ตั้งคำถาม และสำรวจบาดแผลทางใจที่ยังคงส่งผลกระทบต่อชีวิต เพื่อประเมินความพร้อม ก่อนเริ่มกระบวนการบำบัด
- เตรียมตัวให้พร้อมก่อนเริ่มการบำบัด
นักบำบัดจะแนะนำเทคนิคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการผ่อนคลายความเครียด ความวิตกกังวล และวิธีการฝึกสติและการรับรู้ตัวเองในปัจจุบัน รวมถึงแนวทางการสร้างความเข้มแข็งทางใจ การมองเห็นคุณค่าในตนเอง เพื่อรับมือกับอารมณ์ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการบำบัด ไปจนถึงใช้จัดการกับความรู้สึกยาก ๆ ในชีวิตประจำวัน
- กระตุ้นสมองผ่านการเคลื่อนไหวดวงตา
นักบำบัดจะใช้เทคนิคการกระตุ้นสมองทั้งสองซีก เช่น ให้ผู้ป่วยกลอกตาไปมา ในขณะที่ผู้ป่วยนึกถึงความทรงจำที่เจ็บปวด ช่วยให้สมองปลดปล่อยความทรงจำในอดีต และประมวลผลความทรงจำนั้นใหม่ เพื่อลดความรุนแรงของอารมณ์ที่เกี่ยวข้องลง ให้เหตุการณ์คลี่คลายในทางที่ดีขึ้น
- สร้างความคิดเชิงบวกและสร้างภาพจำที่ช่วยให้รักตัวเองมากขึ้น
เมื่อความเจ็บปวดจากอดีตเริ่มคลี่คลาย ผู้ป่วยสามารถประมวลผลความทรงจำที่กระทบจิตใจได้แล้วนักบำบัดจะช่วยผู้ป่วยสร้างความคิดเชิงบวก ปรับเปลี่ยนความเชื่อที่มีต่อตนเอง จาก “ฉันไม่มีค่า” เป็น “ฉันมีคุณค่าและสมควรได้รับความสุข” เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสร้างมุมมองใหม่ที่เป็นแง่บวกเกี่ยวกับตัวเอง และลดผลกระทบเชิงลบของอดีตที่เคยกดทับความมั่นใจ
- สรุปผลและติดตามผลหลังการบำบัด
หลังจากจบกระบวนการบำบัด ผู้ป่วยจะได้รับการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูว่าอารมณ์และความคิดเกี่ยวกับตัวเองมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร โดยนักจิตบำบัดจะทำการพูดคุยเกี่ยวกับความรู้สึกหลังจากผ่านการบำบัด และประเมินว่ายังมีความทรงจำหรืออารมณ์ด้านลบที่รบกวนอยู่หรือไม่ เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคการดูแลตัวเอง เพื่อรักษาผลลัพธ์ของการบำบัดให้คงอยู่ในทางที่ดีอย่างต่อเนื่อง

ใครที่เหมาะกับการบำบัดด้วย EMDR ?
การบำบัดด้วยกระบวนการ EMDR เหมาะสำหรับผู้ที่กำลังเผชิญกับภาวะต่าง ๆ เหล่านี้
- ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า (Depression) รู้สึกสิ้นหวัง ขาดคุณค่าในตัวเอง และติดอยู่กับความรู้สึกผิดจากอดีต
- ผู้ที่มีภาวะเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (PTSD – Post-Traumatic Stress Disorder) หรือผ่านเหตุการณ์รุนแรง เช่น อุบัติเหตุ ความรุนแรงในครอบครัว หรือการสูญเสียคนสำคัญ
- ผู้ที่มีปมในวัยเด็ก เช่น การถูกทอดทิ้งหรือถูกทำร้าย ซึ่งส่งผลต่อความสัมพันธ์และการใช้ชีวิตปัจจุบัน
- ผู้ที่เคยเผชิญกับความรุนแรง หรือความสูญเสียอย่างหนัก เช่น บุคคลสำคัญในชีวิตและยังไม่สามารถก้าวผ่านความเศร้าได้
การบำบัดด้วย EMDR Therapy ไม่ได้ช่วยให้ลืมเหตุการณ์เลวร้ายในอดีต แต่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถจัดการกับความทรงจำเหล่านั้นได้อย่างเหมาะสม รวมถึงสามารถรักและยอมรับตัวเองมากขึ้น ไม่ต้องจมอยู่กับความรู้สึกผิดต่อไป
สำหรับคนที่กำลังเผชิญกับบาดแผลทางจิตใจ หรือมีคนใกล้ตัวที่เจ็บปวดกับอดีตที่ยากจะข้ามผ่านได้ และต้องการรับการบำบัดด้วย EMDR Therapy แต่ยังไม่รู้จะเลือกโรงพยาบาลจิตเวชที่ไหนดี สามารถขอรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์และนักบำบัดได้ที่ Bangkok Mental Health Hospital (BMHH) โรงพยาบาลจิตเวชในเครือโรงพยาบาลเวชธานี เรายินดีอยู่เคียงข้างในทุกสถานการณ์
นัดหมายเข้าพบจิตแพทย์และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
โทรศัพท์: 02-589-1889
LINE Official Account: @bmhh
บทความที่เกี่ยวข้อง

Gaslighting คืออะไร ทำไมถึงส่งผลต่อจิตใจของผู้ถูกกระทำ
“เพราะเธอไม่ดีพอ ฉันเลยนอกใจ” “เรื่อง […]

รู้จัก 4 ประเภทของไบโพลาร์ พร้อมสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา
โรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์สองขั้ว เป็นภาวะทางจิตเวชที่ส่ […]

ชนิดของโรคซึมเศร้า รู้เท่าทัน รับมือถูกวิธี
โรคซึมเศร้า อาการป่วยทางใจที่ไม่ใช่เพียงแค่มีความรู้สึก […]
Talk to Doctor
Call Us
Line BMHH