สถานการณ์ภาวะซึมเศร้ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในทุกเพศทุกวัย ซึ่งปัจจุบันมีวิธีการรักษาโรคซึมเศร้าหลายวิธี เช่น การให้ยาต้านเศร้าหรือการทำจิตบำบัด แต่หลายคนอาจมีความกังวลหากกินยาต้านเศร้าจะช่วยรักษาโรคซึมเศร้าได้มากแค่ไหน และจะมีผลกระทบต่อร่างกายหรือไม่
- ยาต้านเศร้าคืออะไร?
คำตอบ ยาต้านเศร้า เป็นยาที่ต้องใช้ตามคำสั่งแพทย์เพื่อใช้รักษาภาวะซึมเศร้าและภาวะอื่น ๆ ตามข้อบ่งชี้จากองค์การอาหารและยา เช่น โรคซึมเศร้าหรือภาวะซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ช่วงซึมเศร้า โรคเกี่ยวกับการกินผิดปกติ โรควิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคแพนิค โรคเครียดหลังประสบเหตุการณ์รุนแรง และโรคกลัวสังคม นอกจากนี้ ยังสามารถใช้กับภาวะอื่นได้อีก เช่น อาการปวดเรื้อรัง ไมเกรน นอนไม่หลับ เป็นต้น - ยาต้านเศร้าทำงานอย่างไร?
คำตอบ ยาต้านเศร้าจะปรับระดับสารเคมีในสมอง หรือสารสื่อประสาทให้สมดุล ส่งผลให้มีอารมณ์และพฤติกรรมที่ดีขึ้น เนื่องจากสารสื่อประสาทในสมองมีหลายตัว ยาต้านเศร้าจึงมีหลายกลุ่มและมีการทำงานต่อสมองในรูปแบบต่างกัน งานวิจัยพบว่ายาต้านเศร้าสามารถเพิ่มจำนวนเซลล์สมองและทำให้เซลล์สมองแข็งแรงขึ้น - วิธีใช้ยาต้านเศร้า
คำตอบ ยาต้านเศร้ามีหลายรูปแบบ ทั้งแบบเม็ดที่ต้องกลืนกับน้ำ แบบเม็ดที่ละลายในปาก และแบบน้ำ ซึ่งในตอนแรกแพทย์จะสั่งยาต้านเศร้าขนาดต่ำสุดที่ใช้ในการรักษาและค่อย ๆ เพิ่มขนาดยาตามอาการของโรค - กินยานานแค่ไหนกว่าจะเห็นผล?
คำตอบ ยาต้านเศร้าจะใช้เวลาหลายอาทิตย์ประมาณ 2 – 4 อาทิตย์กว่าจะออกฤทธิ์ ทำให้เห็นผลการรักษาด้านอารมณ์ว่าผู้ป่วยมีอารมณ์ที่ดีขึ้นหรือมีอารมณ์ด้านลบลดลง ส่วนอาการด้านสมาธิความจำจะดีขึ้นหลังจากอารมณ์ดีขึ้นซึ่งจะใช้เวลาหลายเดือน โดยยาต้านเศร้าบางตัวจะช่วยให้การนอนดีขึ้น ซึ่งผลด้านการนอนจะเห็นตั้งแต่มื้อแรกที่รับประทานยา - ต้องทานยาตลอดชีวิตหรือไม่?
คำตอบ รับประทานยาอย่างน้อย 6 เดือน หลังจากที่อาการดีขึ้น แต่ถ้าเคยหายจากโรคซึมเศร้าแล้วกลับเป็นซ้ำ ซึมเศร้ายาวนานเรื้อรัง ซึมเศร้ารุนแรงถึงขั้นฆ่าตัวตายหรือต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล หรือมีประวัติญาติใกล้ชิดป่วยทางจิตเวช อาจพิจารณารับประทานยาต่อเนื่องเพื่อป้องกันการกำเริบของโรค - ทานยาแล้วจะได้ผลจริงหรือไม่?
คำตอบ ยาต้านเศร้าก็เหมือนยาชนิดอื่น ที่การตอบสนองของร่างกายแต่ละบุคคลต่อยาจะแตกต่างกัน จึงทำให้ผลการรักษา ขนาดยาที่ใช้ และผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นแตกต่างกันในแต่ละบุคคล ทั้งนี้ จิตแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วย นอกจากการรักษาด้วยยาแล้วในโรคซึมเศร้าจะมีการทำจิตบำบัดร่วมด้วยเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีขึ้น - ยาต้านเศร้ามีผลข้างเคียงอย่างไร?
คำตอบ ยาต้านเศร้าแต่ละชนิดจะมีผลข้างเคียงแตกต่างกัน แม้กระทั่งยาตัวเดียวกันที่ผลิตจากคนละบริษัทก็อาจมีผลข้างเคียงหรือประสิทธิภาพที่แตกต่างกัน เช่น คลื่นไส้ เบื่ออาหาร หรือ เจริญอาหาร ท้องผูก ปวดศีรษะ มึน ปากแห้ง คอแห้ง ง่วงนอน หรือ นอนหลับยากขึ้น ความต้องการทางเพศลดลง
แม้ผลข้างเคียงจะมีอาการมากในช่วงแรกของการเริ่มกินยา ถ้ากินยาต่อเนื่องไปผลข้างเคียงจะค่อย ๆ ลดลง ผู้ป่วยสามารถแจ้งแพทย์เรื่องผลข้างเคียงได้ ถ้าไม่สามารถทนต่อผลข้างเคียงของยาตัวนั้นได้แพทย์จะพิจารณาเปลี่ยนยา - ยาต้านเศร้าทำให้อ้วนหรือไม่?
คำตอบ ยาต้านเศร้ามีทั้งชนิดที่ทำให้น้ำหนักเพิ่มและชนิดที่ทำให้น้ำหนักลด ทั้งนี้การที่น้ำหนักขึ้นอาจไม่ได้เกิดจากยาเพียงอย่างเดียว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีก เช่น ผู้ป่วยบางคนมีอาการน้ำหนักลดลงมากในช่วงเป็นซึมเศร้า เมื่อรับการรักษาด้วยยาจนอาการดีขึ้นเริ่มกลับมากินอาหารได้ น้ำหนักจึงขึ้นมาเพราะอารมณ์กลับมาปกติและกินอาหารได้ และน้ำหนักขึ้นตามอายุที่มากขึ้น มีภาวะเมตาโบลิซึมลดลง ถ้าผู้ป่วยกังวลเรื่องน้ำหนักตัวสามารถแจ้งแพทย์เพื่อพิจารณาหลีกเลี่ยงยาที่ทำให้น้ำหนักขึ้น หรือถ้าจำเป็นต้องใช้ยาตัวนั้นจริง ๆ ควรควบคุมน้ำหนักด้วยการควบคุมอาหารและออกกำลังร่วมด้วย - รู้ได้อย่างไรว่ายาต้านเศร้าที่รับประทานอยู่เหมาะกับเรา?
คำตอบ รับประทานยาแล้วรู้สึกว่าอาการดีขึ้น, รับผลข้างเคียงของยาได้ - รับประทานยาขณะตั้งครรภ์ได้หรือไม่?
คำตอบ ต้องมีการชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงและประโยชน์ของยาที่ใช้ในขณะตั้งครรภ์ ซึ่งผู้ป่วยและแพทย์จะพิจารณาร่วมกัน ผู้ป่วยแต่ละคนมีลักษณะอาการและสถานการณ์ความเครียดแตกต่างกัน ทางเลือกว่าจะใช้หรือไม่ใช้ยาจึงไม่ตายตัว ทั้งนี้ความเสี่ยงของการเกิดทารกผิดปกติจากยาต้านเศร้ามีต่ำมาก ในทางตรงกันข้าม คุณแม่ที่มีอาการซึมเศร้ารุนแรงกลับเพิ่มความเสี่ยงของทารกเจริญเติบโตน้อยลง คลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักน้อย และมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด - ดื่มเหล้าพร้อมยาต้านเศร้าได้หรือไม่?
คำตอบ ไม่ควรดื่มเหล้าพร้อมกินยา เพราะเหล้าหรือสารเสพติดอื่นอาจทำให้โรคแย่ลง โดยเฉพาะยาที่มีฤทธิ์ง่วงนอนถ้ากินพร้อมเหล้าจะกดประสาทมากขึ้นทำให้ง่วงมากขึ้น - กินยาต้านเศร้าแล้วติดยาหรือไม่?
คำตอบ ยาต้านเศร้าไม่มีฤทธิ์เสพติด
อย่างไรก็ตาม ยาต้านเศร้าเป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคซึมเศร้า ซึ่งควรใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูงสุด
บทความที่เกี่ยวข้อง
พฤศจิกายน 21, 2024
ก้าวข้ามผ่านความทุกข์ด้วยพลังของการบำบัด
ในสังคมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบและความกดดัน การรักษาสุขภาพจิตกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้การดูแลสุขภาพร่างกาย
พฤศจิกายน 17, 2024
GAD เมื่อความกังวลกลายเป็นปัญหา
ทุกคนย่อมมีความกังวลใจบ้างเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน แต่ความกังวลที่มากเกินไปและต่อเนื่องเป็นเวลานานจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
พฤศจิกายน 15, 2024
บาดแผลที่เกิดขึ้นในใจเด็ก อาจเสี่ยงเป็น PTSD
โรค PTSD หรือโรคเครียดหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ เป็นโรคจิตเวชที่สามารถเกิดได้กับทุกคนที่ประสบเหตุการณ์รุนแรงหรือเหตุการณ์สะเทือนใจมา
Talk to Doctor
Call Us
Line BMHH