5 กลุ่มอาการ โรคจิตเภท

Share
5 กลุ่มอาการ

โรคจิตเภท เป็นโรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อย ในประเทศไทยพบได้ร้อยละ 0.88 ในเพศชายและเพศหญิงเท่า ๆ กัน ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากหลาย ๆ ปัจจัย เช่น พันธุกรรม สารเคมีในสมองไม่สมดุล การทำงานของสมองลดลง หรือแม้แต่ปัจจัยทางด้านสังคมและครอบครัว โดยผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการในช่วงวัยรุ่น ส่วนใหญ่ประมาณ 15 – 24 ปี เมื่อเป็นแล้วมักไม่หายขาด ส่วนใหญ่มีอาการกำเริบเป็นช่วง ๆ รักษาแล้วอาจมีอาการหลงเหลืออยู่บ้าง

5 กลุ่มอาการของโรคจิตเภท ได้แก่

  1. กลุ่มอาการด้านบวก เช่น อาการหลงผิด, อาการประสาทหลอน, ความคิดสับสน, พฤติกรรมผิดปกติ
  2. กลุ่มอาการด้านลบ อาจพบได้ในผู้ป่วยบางราย โดยจะมีอาการ ดังนี้ พูดน้อย ถามตอบช้า, การแสดงออกด้านอารมณ์ลดลงมาก, ขาดความกระตือรือร้น เฉื่อยชา ผู้ป่วยอาจนั่งอยู่เฉย ๆ ทั้งวันโดยไม่ทำอะไร, ไม่รู้สึกมีความสุข ทั้ง ๆ ที่มีเรื่องดี ๆ เกิดขึ้น, เก็บตัว
  3. กลุ่มอาการด้านความรู้ความเข้าใจ ได้แก่ สมาธิแย่ลง การตีความสิ่งต่าง ๆ และการตอบสนองบกพร่องไป ความจำบกพร่อง ไม่สามารถคิดเป็นเหตุเป็นผล อาการนี้จะค่อนข้างคงที่อยู่ตลอดแม้ผู้ป่วยจะทุเลาจากอาการหูแว่วประสาทหลอน เป็นเหตุให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำงานได้ดังเดิม
  4. กลุ่มอาการด้านอารมณ์ เป็นอาการที่พบร่วมได้บ่อย แต่ไม่ได้ใช้ในการวินิจฉัยโรค โดยผู้ป่วยอาจมีอารมณ์ซึมเศร้า รู้สึกผิด รู้สึกกังวล หงุดหงิด ก้าวร้าว หุนหันพลันแล่น อารมณ์คึกคัก
  5. กลุ่มอาการอื่น ๆ เช่น ไม่ตระหนักว่าตนเองผิดปกติ ทำให้ไม่ยอมรับการรักษาแม้อาการจะกำเริบหลาย ๆ ครั้ง

หากสังเกตว่าคนใกล้ชิดมีกลุ่มอาการเหล่านี้ ควรแนะนำหรือพามาพบจิตแพทย์ เพื่อจะได้รับการวินิจฉัยและรักษา ซึ่งการรักษาหลัก ๆ คือการกินยาเพื่อลดกลุ่มอาการด้านบวก ป้องกันการกำเริบ โดยพบว่าผู้ป่วยที่มีอาการกำเริบบ่อย ๆ เกิดจากการขาดยา นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาอื่น ๆ เช่น การรักษาด้วยไฟฟ้าร่วมกับการกินยา (Electroconvulsive therapy:ECT) โดยจะใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้นสมองของผู้ป่วยทำให้เกิดอาการชัก เพื่อรักษาอาการให้ดีขึ้น, การรักษาด้านจิตสังคม เช่น จิตบำบัด การให้คำแนะนำแก่ครอบครัว กลุ่มบำบัด และนิเวศน์บำบัด

อย่างไรก็ตาม การรับผู้ป่วยมารักษาแบบผู้ป่วยในจะทำในกรณีดังต่อไปนี้ มีพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อตัวเองหรือผู้อื่น หรือก่อความเดือนร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น, มีปัญหาอื่น ๆ ที่ต้องดูแลใกล้ชิด หรือมีอาการข้างเคียงรุนแรงจากการกินยา, เพื่อควบคุมการกินยาในกรณีผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือกินยา

แพทย์หญิงณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล
จิตแพทย์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ตุลาคม 16, 2024
ความเจ็บปวดที่มองไม่เห็น

ปัญหาสุขภาพจิตกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมปัจจุบัน แต่สิ่งที่ตามมาพร้อมกับปัญหาเหล่านี้คือ "การตีตรา" (Stigma)

อาการของผู้ป่วยที่ควรมาหาหมอโรคซึมเศร้า
ตุลาคม 11, 2024
เข้าใจอาการและการรักษาโรคซึมเศร้า ก่อนเข้ามาพบแพทย์

เช็กอารมณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรม ต้องพบแพทย์รักษาโรคซึมเศร้าหรือไม่ แล้วโรคซึมเศร้าอันตรายหรือไม่ สามารถรักษาหายได้ไหม และมีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง

ตุลาคม 10, 2024
โรคซึมเศร้า ภัยเงียบคุกคามสังคม

วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันสุขภาพจิตโลก” (World Mental Health Day) เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต

บทความเพิ่มเติม