พฤติกรรมผิดปกติ ความคิดสับสน อาการเข้าข่ายโรคจิตเภท

Share
พฤติกรรมผิดปกติ ความคิดสับสน อาการเข้าข่ายโรคจิตเภท

คำว่า “โรคจิต” หมายถึง ภาวะที่ผู้ป่วยไม่อยู่กับความเป็นจริง และแสดงออกมาในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังต่อไปนี้

  1. อาการหลงผิด เป็นความเชื่อแบบฝังแน่น ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงแม้จะมีเหตุผลหรือหลักฐานมาแย้ง เช่น หลงผิดคิดว่าตัวเองถูกปองร้ายกลั่นแกล้ง, หลงผิดคิดว่าตัวเองมีอำนาจ มีความสามารถพิเศษ หรือเป็นบุคคลสำคัญ โดยจะแบ่งเป็นการหลงผิดในลักษณะที่แปลกประหลาดเป็นไปไม่ได้ เช่น เชื่อว่าความคิดของตัวเองกระจายออกนอกตัวทำให้คนรอบข้างรู้หมดว่าคิดอะไร หรือการคิดว่ามีแมลงอยู่ในท้อง และการหลงผิดแบบไม่แปลกประหลาดเป็นความเชื่อที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน เช่น คิดว่าหัวหน้ากลั่นแกล้ง
  2. อาการประสาทหลอน เป็นการรับรู้โดยปราศจากสิ่งเร้าภายนอก ชนิดที่พบบ่อย คือ หูแว่ว อาการประสาทหลอนชนิดอื่นที่อาจพบได้ เช่น ประสาทหลอนทางกลิ่น การสัมผัส ภาพหลอน
  3. อาการความคิดสับสน ผู้ป่วยไม่สามารถรวบรวมความคิดให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันตลอด แสดงออกโดยการพูดจาสนทนา โดยเป็นมากจนไม่สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ความคิดไม่ปะติดปะต่อ เปลี่ยนเรื่องพูดจากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องโดยขาดความเชื่อมโยง หากเป็นมากการพูดจะสับสนจนไม่รู้ว่าผู้ป่วยกำลังสื่ออะไร
  4. อาการพฤติกรรมผิดปกติ เป็นพฤติกรรมที่ใคร ๆ ก็เห็นได้ชัดว่าไม่สมเหตุผล ไม่มีจุดมุ่งหมาย เช่น สวมเสื้อผ้าหลายตัวทั้งที่อากาศร้อน หัวเราะโดยไม่มีเหตุผล อยู่นิ่งไม่เคลื่อนไหวหรือเคลื่อนไหววุ่นวายอย่างคาดเดาไม่ได้
  5. อาการด้านลบ เป็นอาการที่อาจพบได้ในผู้ป่วยบางราย ได้แก่ พูดน้อย ถามตอบช้า การแสดงออกด้านอารมณ์ลดลง ขาดความกระตือรือร้น เฉื่อยชา ไม่มีความสุขทั้งที่มีเรื่องดี ๆ เกิดขึ้น เก็บตัว

นอกจากนี้ยังมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยได้ เช่น สมาธิแย่ลง การตีความสิ่งต่าง ๆ และการตอบสนองบกพร่องไป ความจำบกพร่อง หงุดหงิด ก้าวร้าว โดยการวินิจฉัยจิตแพทย์จะประเมินจากการที่ผู้ป่วยมีลักษณะอาการอย่างน้อย 2 ข้อขึ้นไป ระยะเวลานานกว่า 1 เดือน และอาการมีความรุนแรงจนส่งผลเสียต่อระดับความสามารถในด้านต่าง ๆ เช่น การทำงาน การมีสัมพันธภาพกับผู้อื่น หรือการดูแลตัวเอง

การรักษามีตั้งแต่การกินยา การรักษาด้วยไฟฟ้า การรักษาด้านจิตสังคม รวมถึงการเข้ารักษาในโรงพยาบาลหรือผู้ป่วยใน ซึ่งจะใช้ในกรณีผู้ป่วยมีพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อตัวเองและผู้อื่น, มีอาการข้างเคียงรุนแรงการยา, และเพื่อควบคุมการกินยาหากผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือในการกินยา

แพทย์หญิงณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล
จิตแพทย์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ตุลาคม 16, 2024
ความเจ็บปวดที่มองไม่เห็น

ปัญหาสุขภาพจิตกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมปัจจุบัน แต่สิ่งที่ตามมาพร้อมกับปัญหาเหล่านี้คือ "การตีตรา" (Stigma)

อาการของผู้ป่วยที่ควรมาหาหมอโรคซึมเศร้า
ตุลาคม 11, 2024
เข้าใจอาการและการรักษาโรคซึมเศร้า ก่อนเข้ามาพบแพทย์

เช็กอารมณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรม ต้องพบแพทย์รักษาโรคซึมเศร้าหรือไม่ แล้วโรคซึมเศร้าอันตรายหรือไม่ สามารถรักษาหายได้ไหม และมีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง

ตุลาคม 10, 2024
โรคซึมเศร้า ภัยเงียบคุกคามสังคม

วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันสุขภาพจิตโลก” (World Mental Health Day) เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต

บทความเพิ่มเติม