เครียด วิตกกังวล นานเกิน 6 เดือน เสี่ยง “โรควิตกกังวลไปทั่ว” 

Share
เครียด วิตกกังวล นานเกิน 6 เดือน เสี่ยง โรควิตกกังวลไปทั่ว

ความวิตกกังวล เป็นอาการที่เกิดได้ในคนปกติทั่วไป เมื่อมีความเครียดเข้ามากระทบ จะมีความรู้สึกสับสน เครียด กังวล วิตก ตื่นเต้น ไม่มีความสุข ควบคู่ไปกับอาการทางร่างกาย เช่น มือสั่น ตัวสั่น ปัสสาวะบ่อย ปั่นป่วนในท้อง แน่นหน้าอก ลุกลี้ลุกลน การพิจารณาว่าความตึงเครียดที่เกิดขึ้นเป็นความวิตกกังวลที่ผิดปกติหรือไม่นั้น ให้พิจารณาจากประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

โรควิตกกังวล แบ่งย่อยได้เป็นหลายโรค 1 ในนั้นคือ “โรควิตกกังวลไปทั่ว” ซึ่งพบประมาณร้อยละ 4.3-5.9 พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายประมาณ 2 เท่า และพบได้บ่อยในช่วงวัยกลางคน อาการเด่น ได้แก่ มีความกังวลอย่างมากในเรื่องต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง มักเป็นเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การงาน การเงิน สุขภาพ ความเป็นอยู่ในครอบครัว อาจพบอาการทางร่างกายร่วมด้วย เช่น เหนื่อยง่าย ปวดตึงกล้ามเนื้อร่วมด้วย ร้อยละ 60 ของผู้ป่วยโรควิตกกังวลจะพบโรคร่วม เช่น โรคซึมเศร้า และโรคในกลุ่มวิตกกังวลอื่น ๆ

การวินิจฉัยโรควิตกกังวลไปทั่ว แพทย์จะประเมินจากการที่ผู้ป่วยมีความวิตกกังวลมากเกินเหตุต่อหลาย ๆ เรื่องนานอย่างน้อย 6 เดือน, ผู้ป่วยรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมความกังวลนี้ได้, มีอาการทางกายต่าง ๆ(อย่างน้อย 1 อาการ) ดังต่อไปนี้  กระสับกระส่ายหรือตื่นเต้นหรือประหม่า เหนื่อยง่าย มีปัญหาด้านสมาธิความจำ หงุดหงิด ปวดตึงกล้ามเนื้อ มีปัญหาการนอน, ความกังวลดังกล่าวรบกวนชีวิตประจำวัน

สาเหตุของโรควิตกกังวลไปทั่ว แบ่งเป็นปัจจัยด้านชีวภาพ ผู้ป่วยจะมีความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง และปัจจัยด้านจิตใจ เชื่อว่าผู้ป่วยมีความใส่ใจต่อข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเกิดเหตุร้าย มองสิ่งกระตุ้นที่คลุมเครือว่าเป็นสิ่งอันตราย 

หากผู้ป่วยมีอาการของโรควิตกกังวล แนะนำให้มาพบจิตแพทย์ ซึ่งปัจจุบันสามารถรักษาได้ด้วยยา และจิตบำบัด สำหรับการรักษาด้วยยา จะเป็นกลุ่มยาต้านเศร้าเป็นหลัก และให้ยาคลายเครียดร่วมด้วยในบางช่วง หากตอบสนองดีต่อการรักษาอาจพิจารณาให้ยาต่อ 12 – 18 เดือน แล้วค่อย ๆ ลดยาลงจนหยุด นอกจากนี้จะพิจารณาว่าผู้ป่วยมีโรคร่วมอื่น ๆ หรือไม่ เช่น ภาวะซึมเศร้า และทำความเข้าใจถึงบริบทของสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะเครียดและกังวล เพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป ส่วนการทำจิตบำบัดนิยมใช้ความคิดพฤติกรรมบำบัด ร่วมกับการฝึกผ่อนคลาย

แพทย์หญิงณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล
จิตแพทย์

บทความที่เกี่ยวข้อง

กันยายน 5, 2024
หัวเราะจนขาดใจ? อันตรายของ “แก๊สหัวเราะ” ที่คุณควรรู้

เคยเห็นคนเป่าลมจากลูกโป่งสีสันสดใสแล้วหัวเราะคิกคักกันบ้างไหม? รู้หรือไม่ว่าลูกโป่งเหล่านั้นอาจบรรจุ "แก๊สหัวเราะ" หรือไนตรัสออกไซด์

สิงหาคม 29, 2024
5 วิธีพัฒนา Self esteem เพิ่มคุณค่าในตัวเอง

การเปรียบเทียบเป็นเรื่องปกติของมนุษย์เรา บางคนอาจจะถูกผู้อื่นเปรียบเทียบ หรือเราเองไปเปรียบเทียบกับคนนั้นคนนี้ก็มี ซึ่งในทางบวกการเปรียบเทียบ

สิงหาคม 29, 2024
เบื้องหลังคนที่ชอบเรียกร้องความสนใจ ทำตัวเด่น อาจเป็น “โรคฮิสทีเรีย”

ในชีวิตคนเราทุกคนล้วนพบเจอคนหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีอารมณ์แปรปรวนง่าย หรือชอบทำตัวเป็นจุดเด่น เพื่อดึงดูดความสนใจจากคนรอบข้าง

บทความเพิ่มเติม