การเรียนรู้บกพร่อง รักษาได้ ถ้าเข้าใจ

Share
การเรียนรู้บกพร่อง

หนึ่งในปัญหาที่ผู้ปกครองที่มีลูกอยู่ในวัยเรียนมักพบบ่อย คือ ลูกเรียนไม่ทันเพื่อน ผลการเรียนของลูกไม่ดี หรือมีการสอบตกในบางวิชา สถานการณ์เหล่านี้อาจบ่งบอกถึงความเสี่ยงของการเป็นโรค Learning Disorder หรือ Learning Disabilities หรือโรค LD  ซึ่งจากสถิติสามารถพบเด็ก LD ได้มากถึง 5% ของนักเรียนชั้นประถมศึกษา ขณะเดียวกันกลับพบว่ามีเด็ก LD ส่วนน้อยที่ได้เข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม

รองศาสตราจารย์นายแพทย์มนัท สูงประสิทธิ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นเฉพาะทางด้าน Learning Disorder หรือ Learning Disabilities โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า โรค Learning Disorder หรือ Learning Disabilities: LD หรือโรคบกพร่องทางการเรียนรู้ หมายถึง ทักษะในการเรียนรู้ของเด็กมีพัฒนาการที่ล่าช้าในด้านใดด้านหนึ่ง หรือหลายด้านพร้อม ๆ กัน สาเหตุการเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง จึงส่งผลต่อกระบวนการเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ  และมักพบร่วมกับโรคอื่น ๆ เช่น โรคสมาธิสั้น โรคออทิสติก โรควิตกกังวล เป็นต้น

ความบกพร่องทางการเรียนรู้ แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่

  1. ความบกพร่องในด้านการอ่าน เป็นประเภทที่พบบ่อยที่สุด เด็กจะไม่สามารถอ่านได้อย่างที่ควรจะเป็น เนื่องจากสมองมีความบกพร่องในการแยกแยะเสียง พยัญชนะ วรรณยุกต์ สระ เด็กกลุ่มนี้มักจะอ่านจากความจำ เพราะฉะนั้นจึงอ่านผิดอ่านถูก เนื่องจากต้องเดาคำที่ไม่ค่อยได้เห็น ผลที่ตามมาคือไม่สามารถจับใจความหรือสรุปความจากการอ่านได้
  2. ความบกพร่องในด้านการเขียน เด็กกลุ่มนี้จะมีปัญหาในเรื่องการสะกดคำ ทำให้ไม่สามารถเขียนหนังสือได้ ลายมือจะอ่านยาก นึกคำศัพท์ที่จะเขียนไม่ได้ ผลที่ตามมาคือไม่สามารถเขียนในสิ่งที่ต้องการจะสื่อได้พร้อม ๆ กันโดยไม่เหมาะสมกับระดับสติปัญญาที่ดีและการศึกษาที่ได้รับ
  3. ความบกพร่องในด้านการคำนวณ เด็กกลุ่มนี้จะมีข้อจำกัดในด้านทักษะที่เกี่ยวกับตัวเลข การคิดคำนวณ สามารถนับเลขได้ แต่ไม่เข้าใจการคำนวณ ผลที่ตามมาคือมีความยากลำบากในการเปรียบเทียบจำนวนมากหรือน้อย และไม่สามารถบวก ลบ คูณ หารได้

Learning Disorder หรือ Learning Disabilities หรือ LD เป็นโรคที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ และควรได้รับการวางแผนการเรียนเป็นรายบุคคล ยิ่งได้รับความช่วยเหลือเร็วเท่าไหร่ ยิ่งเป็นผลดีต่อตัวเด็กมากเท่านั้น โดยอาการที่ผู้ปกครองควรสังเกต ได้แก่ ลูกมีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการอ่าน เขียน หรือคิดเลข ไม่มีสมาธิในการเรียน มีอารมณ์หุนหันพลันแล่น ไม่มั่นใจในตัวเอง หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย รักษาและให้ความช่วยเหลือก่อนที่จะสายเกินไป

สิ่งสำคัญของการรักษาโรค Learning Disorder หรือ Learning Disabilities คือทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ทั้งผู้ปกครอง โรงเรียน และตัวเด็กเอง โดยผู้ปกครองและครูจำเป็นต้องเปิดใจและเข้าใจพื้นฐานของตัวโรค ไม่โทษว่าเป็นเพราะเด็กขี้เกียจ ไม่สนใจเรียน หรือเป็นเด็กเกเร ในขณะที่ตัวเด็กจำเป็นต้องได้รับการประเมินความรุนแรงของโรคก่อน จากนั้นทีมแพทย์และสหสาขาวิชาชีพเฉพาะทางด้าน Learning Disorder หรือ Learning Disabilities จะช่วยกันปรับการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับเด็ก หลักการคือสอนในเรื่องที่เด็กบกพร่องซ้ำ ๆ และสร้างบรรยากาศการเรียนให้สนุก เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ และในระหว่างนี้จะช่วยค้นหาความสามารถพิเศษของเด็กร่วมด้วย โดยทุกฝ่ายต้องช่วยให้เด็กมีความเชื่อมั่นว่าตัวเขาสามารถทำได้

“เป้าหมายของการรักษาโรคนี้ คือการลดความเครียดของเด็กลง และช่วยให้เด็กสามารถเรียนทันเพื่อนในเวลาที่เหมาะสม เพราะเด็กที่ได้รับการช่วยเหลือทุกคนสามารถเรียนทันเพื่อนได้ อย่างไรก็ตาม หากเด็กไม่ได้รับความช่วยเหลืออาจนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าได้ เพราะตัวเขาเองจะรู้สึกไร้ค่าและขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง” รองศาสตราจารย์นายแพทย์มนัทกล่าว

รองศาสตราจารย์นายแพทย์มนัท สูงประสิทธิ์
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นเฉพาะทางด้าน LD โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital

บทความที่เกี่ยวข้อง

ตุลาคม 16, 2024
ความเจ็บปวดที่มองไม่เห็น

ปัญหาสุขภาพจิตกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมปัจจุบัน แต่สิ่งที่ตามมาพร้อมกับปัญหาเหล่านี้คือ "การตีตรา" (Stigma)

อาการของผู้ป่วยที่ควรมาหาหมอโรคซึมเศร้า
ตุลาคม 11, 2024
เข้าใจอาการและการรักษาโรคซึมเศร้า ก่อนเข้ามาพบแพทย์

เช็กอารมณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรม ต้องพบแพทย์รักษาโรคซึมเศร้าหรือไม่ แล้วโรคซึมเศร้าอันตรายหรือไม่ สามารถรักษาหายได้ไหม และมีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง

ตุลาคม 10, 2024
โรคซึมเศร้า ภัยเงียบคุกคามสังคม

วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันสุขภาพจิตโลก” (World Mental Health Day) เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต

บทความเพิ่มเติม