โรคไบโพลาร์ รับมือได้ไม่ยาก หากเข้าใจ

Share

อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ เดี๋ยวร่าเริง เดี๋ยวเศร้า เดี๋ยวหงุดหงิด เป็นหนึ่งในอาการของโรคไบโพลาร์หรือโรคอารมณ์สองขั้ว ซึ่งเป็นโรคที่ตัวผู้ป่วยเองและคนรอบข้างไม่ควรมองข้าม เพราะหากอาการมีความรุนแรงมากขึ้น ผู้ป่วยอาจเสี่ยงฆ่าตัวตายได้

แพทย์หญิงอริยาภรณ์ ตั้งชีวินศิริกูล จิตแพทย์ โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental health Hospital กล่าวว่า โรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์สองขั้ว เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่ผู้ป่วยจะมีความผิดปกติทางอารมณ์ จากการศึกษาปัจจุบันพบว่า  โรคนี้เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ได้แก่ พันธุกรรม เช่น หากมีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ ก็จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมากขึ้น, ปัจจัยด้านชีวภาพ เกิดจากสารสื่อประสาทและการทำงานของสมองบางส่วนผิดปกติไป และสุดท้ายคือด้านพฤติกรรม สภาพจิตใจ และสังคม เช่น การอดนอน การใช้สารเสพติด การเผชิญความเครียดและกดดันสูง หรือคุณแม่หลังคลอดที่มีความเครียดสะสมเป็นระยะเวลานาน 

โรคไบโพลาร์เป็นอาการทางจิตที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว โดยจะมีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมสลับกันไปในแต่ละช่วง และไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่

  1. ระยะแมเนีย (Manic episode) ผู้ป่วยจะมีอารมณ์ดี สนุกสนาน คึกคักเกินเหตุ เชื่อมั่นในตัวเองสูง ชอบพูดชอบคุย นอนน้อยกว่าปกติ บางคนนอนแค่วันละ 1 – 2 ชั่วโมง โดยไม่มีอาการอ่อนเพลียตามมา และบางคนอาจมีอาการหงุดหงิดก้าวร้าวได้ง่ายเมื่อถูกขัดใจ
  2. ระยะซึมเศร้า (Depressive episode) ผู้ป่วยจะมีอาการตรงกันข้ามกับระยะแมเนีย และมีอาการคล้ายกับโรคซึมเศร้า คือมีอาการเซื่องซึม เบื่อหน่าย ท้อแท้ ขาดความมั่นใจในตัวเอง ไม่กล้าคิดตัดสินใจ ไม่ใส่ใจดูแลตัวเอง ไม่มีเรี่ยวแรง เก็บเนื้อเก็บตัว ไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง หมดหวังกับชีวิต มองโลกในแง่ร้าย คิดวนเวียน หากอาการรุนแรงอาจถึงขั้นคิดสั้นฆ่าตัวตาย

ข้อสังเกตอย่างหนึ่งของผู้ป่วยที่อยู่ในระยะแมเนีย มักจะไม่คิดว่าตัวเองผิดปกติ และมองว่าช่วงนี้ตัวเองอารมณ์ดี มีความขยันก็เท่านั้น คนอื่น ๆ จึงจะสังเกตได้ยากโดยเฉพาะในช่วงระยะแรก ๆ ที่อาการยังไม่มาก แต่หากสังเกตจริง ๆ จะพอมองออกได้ว่าลักษณะแบบนี้ไม่ใช่ตัวตนของผู้ป่วย เพราะอารมณ์ต่าง ๆ จะแสดงออกมากว่าปกติไปมาก ในขณะที่หากเป็นระยะซึมเศร้า ผู้ป่วยจะพอบอกได้ว่าตัวเองเปลี่ยนไปจากเดิม และคนใกล้ชิดจะสังเกจได้ไม่ยากเท่าระยะแมเนีย เพราะผู้ป่วยจะซึมลง ดูทุกข์และเศร้า

การรักษาโรคไบโพลาร์ หลัก ๆ คือการใช้ยา ซึ่งยาที่ใช้รักษา ได้แก่ กลุ่มยาควบคุมอารมณ์ ยาต้านโรคจิต และยาต้านเศร้า ซึ่งการใช้ยาเหล่านี้ขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์ที่รักษาผู้ป่วย นอกจากนี้ การรักษาอาจใช้ยาควบคู่กับการทำจิตบำบัด ปรับพฤติกรรม หรือการรักษาด้วยไฟฟ้าในกรณีที่มีอาการรุนแรง และต้องการผลการรักษาที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว

เป้าหมายของการรักษาโรคไบโพลาร์ คือการที่ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำงานเป็นคนเดิม และใช้ชีวิตในสังคมได้ แต่การรักษาอาจไม่หายขาด วันดีคืนดีอาจกลับมามีอาการอีก โดยเฉพาะในรายที่มีอาการป่วยมาหลายครั้งหรือค่อนข้างถี่ แต่ละครั้งอาการรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกลับมาอีก ทั้งนี้ แพทย์หญิงอริยาภรณ์แนะนำว่า การดูแลตัวเองเบื้องต้นให้ห่างไกลจากโรคไบโพลาร์ สามารถทำได้โดยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การใช้สารเสพติด หรือยาที่ซื้อมารับประทานเองบางประเภท เช่น ยาลดความอ้วน ยาสมุนไพ หากพบว่าตนเองเผชิญกับความเครียด ความกดดันอย่างมากจนรู้สึกว่าไม่สามารถทนกับสถานการณ์เดิมได้ ควรเริ่มจัดการกับปัญหา มองหาตัวช่วย หรือหากปัญหานั้นยังไม่สามารถแก้ไขได้ ควรเน้นทำกิจกรรมที่ช่วยให้ความเครียดลดลงก่อน และผู้ที่สงสัยว่าตัวเองมีอาการเข้าข่ายโรคไบโพลาร์ หรือมีความเครียดสูง สามารถรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาได้

แพทย์หญิงอริยาภรณ์ ตั้งชีวินศิริกูล
จิตแพทย์โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental health Hospital

บทความที่เกี่ยวข้อง

ตุลาคม 16, 2024
ความเจ็บปวดที่มองไม่เห็น

ปัญหาสุขภาพจิตกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมปัจจุบัน แต่สิ่งที่ตามมาพร้อมกับปัญหาเหล่านี้คือ "การตีตรา" (Stigma)

อาการของผู้ป่วยที่ควรมาหาหมอโรคซึมเศร้า
ตุลาคม 11, 2024
เข้าใจอาการและการรักษาโรคซึมเศร้า ก่อนเข้ามาพบแพทย์

เช็กอารมณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรม ต้องพบแพทย์รักษาโรคซึมเศร้าหรือไม่ แล้วโรคซึมเศร้าอันตรายหรือไม่ สามารถรักษาหายได้ไหม และมีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง

ตุลาคม 10, 2024
โรคซึมเศร้า ภัยเงียบคุกคามสังคม

วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันสุขภาพจิตโลก” (World Mental Health Day) เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต

บทความเพิ่มเติม