Midlife crisis วิกฤตวัยกลางคน โอกาสทองในการสร้างชีวิตใหม่

Share

Midlife Crisis หรือที่เรียกในภาษาไทยว่า “วิกฤตวัยกลางคน” เป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม ที่มักเกิดขึ้นในวัยกลางคนช่วงอายุประมาณ 40-60 ปี ซึ่งอาจส่งผลกระทบทั้งในแง่จิตวิทยาและสุขภาพจิต

นายแพทย์ธนวัฒน์ ขุราษี จิตแพทย์ โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital อธิบายว่า Midlife Crisis มักเกิดกับคนที่อยู่ในวัย 40 – 60 ปี เนื่องจากในช่วงวัยนี้จะเข้าสู่วัยทองที่ฮอร์โมนหลายอย่างเลิกผลิต ทำให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และแน่นอนว่าจะส่งผลต่อสภาวะจิตใจที่ไม่ปกติ นอกจากนี้ในช่วงอายุดังกล่าวยังเป็นช่วงเวลาที่หลายคนเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิตที่ผ่านมาทั้งความสำเร็จ ความล้มเหลว และเป้าหมายในอนาคต โดยมักเกิดขึ้นเมื่อคนเราต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสำคัญในชีวิต เช่น การเปลี่ยนแปลงทางอาชีพ การสูญเสียคนใกล้ชิด สุขภาพที่เริ่มถดถอย หรือการเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์

ลักษณะอาการของ Midlife Crisis อาจแสดงออกแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยมีหลากหลายรูปแบบ ได้แก่

  1. ความรู้สึกทางอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลง เช่น มีความรู้สึกไม่พึงพอใจในชีวิต, มีความวิตกกังวลหรือความเครียด, หรือมีอารมณ์เศร้าหรือซึมเศร้า รู้สึกสิ้นหวัง ท้อแท้ หรือไม่มีความสุขในสิ่งที่เคยชื่นชอบ
  2. การเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรม เช่น มีการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ แบบฉับพลันหรือไม่คาดคิด เช่น เปลี่ยนงาน ซื้อของฟุ่มเฟือย หรือแม้กระทั่งตัดสินใจหย่าร้าง, มีความพยายามที่แสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ, และมักหลีกหนีจากความรับผิดชอบ
  3. ความเปลี่ยนแปลงในความคิดและมุมมองชีวิต เช่น ตั้งคำถามเกี่ยวกับคุณค่าในชีวิต, เริ่มคิดถึงอดีตบ่อยครั้ง, กลัวการแก่ตัวและความตาย
  4. ผลกระทบต่อความสัมพันธ์ มีความขัดแย้งในครอบครัว หรืออาจจะมองหาความสัมพันธ์ใหม่ๆ ที่ดูน่าตื่นเต้นกว่า
  5. การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและสุขภาพ หลายคนอาจจะมีอาการเหนื่อยล้าง่ายขึ้น อาจมีปัญหาการนอน ในขณะที่บางคนเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ภายนอก เพราะน้ำหนักขึค้น ผอมลง

ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิด Midlife Crisis คือการเปลี่ยนแปลงในชีวิตและความตระหนักถึงเวลาที่เหลืออยู่ในชีวิต บางครั้งอาจเกิดจากการรับรู้ถึงความไม่สมดุลระหว่าง “ความคาดหวังในชีวิต” และ “ความเป็นจริงในปัจจุบัน” หากมีการรับมือได้ไม่ดีพอ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต หรืออาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า ความวิตกกังวล หรือมีการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมบางอย่าง เช่น ใช้จ่ายเกินตัว ดื่มสุรา หรือใช้สารเสพติด

อย่างไรก็ตาม ทุกคนสามารถรับมือกับ Midlife Crisis ได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง เช่น รับรู้ความคิดความรู้สึกที่เกิดขึ้นโดยไม่ตัดสินหรือต่อว่าตัวเอง รู้ทันพฤติกรรมใหม่ ยอมรับและเข้าใจความเปลี่ยนแปลง ตั้งเป้าหมายใหม่ที่สอดคล้องกับความเป็นจริงในปัจจุบัน หมั่นดูแลสุขภาพกายและใจอย่างสม่ำเสมอ เติมเต็มจิตใจตัวเองด้วยการให้ความสำคัญกับการสะสมความทรงจำดีๆ ไม่ว่าจะมากหรือน้อยในแต่ละวัน พักผ่อนให้เพียงพอไม่อดนอน หากคิดว่าจะยุติความสัมพันธ์ไม่ควรตัดสินใจตอนโกรธหรือเร่งรีบ ให้ใช้เวลาไตร่ตรองให้ดีก่อน หรือแต่หากเริ่มรู้สึกว่าสถานการณ์เริ่มควบคุมไม่ได้ การพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาจะช่วยให้เข้าใจและจัดการกับปัญหาได้ดียิ่งขึ้น

แม้ Midlife Crisis จะฟังดูเหมือนเป็นเรื่องที่น่ากังวล แต่ในอีกมุมหนึ่ง มันอาจเป็นโอกาสในการรีเซ็ตชีวิตและค้นพบตัวตนใหม่ หลายคนที่ผ่านช่วงเวลานี้ได้สำเร็จกลับพบว่า ชีวิตมีความหมายและเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้น

นายแพทย์ธนวัฒน์ ขุราษี จิตแพทย์ 
โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital

บทความที่เกี่ยวข้อง

ธันวาคม 16, 2024
ป้องกัน Burnout ก่อนที่จะหมดไฟ

ภาวะ Burnout หรือภาวะหมดไฟในการทำงานนั้น ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตได้อย่างมาก เพราะไม่ใช่แค่ความเหนื่อยล้าธรรมดา

ธันวาคม 13, 2024
6 วิธีรับมือกับคน Toxic

การต้องเผชิญหน้ากับคน Toxic หรือคนที่สร้างความเป็นพิษให้กับชีวิตนั้นเป็นเรื่องที่น่าเหนื่อยใจ การปล่อยให้ความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้นเรื่อย ๆ

ธันวาคม 13, 2024
อยากขโมยของตลอดเวลา ห้ามใจตัวไม่ได้ สัญญาณเตือน “โรคขี้ขโมย”

"ขโมย" คำๆ นี้มักถูกผูกโยงกับความผิดทางกฎหมาย หรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แต่รู้หรือไม่ว่าบางครั้ง การขโมยอาจเป็นผลมาจากโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง

บทความเพิ่มเติม