ความกลัวเป็นอารมณ์พื้นฐานหนึ่งของทุกคน เป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งที่จะเป็นอันตรายกับตัวเราเอง เช่น กลัวเสียงฟ้าร้องฟ้าผ่า กลัวความสูง กลัวสัตว์ร้าย ซึ่งความกลัวเหล่านี้มักจะกระตุ้นให้เกิดการเตรียมตัวรับมือกับอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น
ส่วนโรคกลัว หรือ Phobia คือความรู้สึกกลัว และกังวลใจอย่างมาก กับสถานการณ์ที่ไม่ได้อันตราย เช่น การกลัวแมงมุมโดยที่ทราบว่าแมงมุมเองนั้นก็ไม่สามารถทำอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ และความกังวลที่เกิดขึ้นไม่สามารถควบคุมได้และส่งผลกระทบต่องาน ความสัมพันธ์หรือการใช้ชีวิต
โรคกลัวเฉพาะอย่างแบ่งออกเป็น 4 ประเภทที่พบบ่อย
- กลัวปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น Astrophobia กลัวฟ้าร้องฟ้าผ่า, Aquaphobia กลัวน้ำ
- กลัวสัตว์ต่างๆ เช่น Cynophobia กลัวสุนัข, Ophidiophobia กลัวงู, Entomophobia กลัวแมลง
- กลัวสถานการณ์บางอย่าง เช่น Claustophobia กลัวที่แคบ, Acrophobia กลัวความสูง
- กลัวเลือด กลัวเข็มฉีดยา
สาเหตุของโรคกลัว
โรคกลัวอาจเกิดตามหลังประสบเหตุการณ์ที่รุนแรง เช่น ถูกสัตว์กัด, ติดอยู่ในลิฟต์, เกิดตามหลังจากเคยเห็นบุคคลอื่นเจอสถานการณ์ที่รุนแรง เช่น เคยเห็นคนจมน้ำ, เกิดจากมีอาการ panic attack ในสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง เช่น ในรถสาธารณะ, หรือเกิดจากการได้รับข้อมูลบางอย่าง เช่น การรับข่าวเกี่ยวกับเครื่องบินตกมากๆ
ปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคกลัว
- พื้นฐานอารมณ์ เช่น การมองโลกในแง่ลบ ขี้กังวล แยกตัว หงุดหงิดง่าย หรือซึมเศร้า
- สิ่งแวดล้อม เช่น ผู้ปกครองที่มีความระมัดระวังและกังวลมาก
- เกินไป จนทำให้เด็กไม่ค่อยได้กล้าลองผิดถูกด้วยตัวเอง, สูญเสียหรือแยกจากผู้ดูแล, และการเคยถูกทำร้ายร่างกายหรือถูกทอดทิ้ง จะทำให้เด็กเกิดภาวะวิตกกังวลได้ง่าย
- พันธุกรรมและสภาวะร่างกาย เช่น คนที่มีญาติสายตรงกลัวสัตว์ มีโอกาสกลัวสัตว์มากขึ้น มีการศึกษาในฝาแฝดพบว่าการกลัวสัตว์ กลัวเลือดหรือเข็ม หรือกลัวสถานการณ์ต่างๆ มีความคล้ายกันถึง 1 ใน 3
อาการของโรคกลัวเฉพาะอย่าง
- กลัวหรือกังวลมากกับสถานการณ์บางอย่าง หรือสิ่งของบางชนิด เช่น ความสูง สัตว์ เลือด เข็ม
- ในเด็กที่ยังไม่สามารถเล่าความรู้สึกออกมาได้ อาจมีอาการร้องไห้งอแง ไม่ยอมห่างจากผู้ดูแล
- สถานการณ์หรือสิ่งของนั้น จะกระตุ้นให้เกิดความกังวลหรือกลัวทุกครั้งที่ต้องเผชิญ
- มีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงสถานการณ์หรือสิ่งของนั้น เพื่อลดความวิตกกังวลหรือกลัว
- ความกลัวและกังวลที่เกิดขึ้น ไม่สมเหตุสมผลกับสถานการณ์ที่เจอ แต่ต้องไม่ใช่ความกลัวที่เกิดจากวัฒนธรรมหรือความเชื่อ
- ความกลัวและกังวลเกิดขึ้นต่อเนื่องเกิน 6 เดือน
- ความกลัวกังวลจนต้องหลีกเลี่ยงสถานการณ์หรือสิ่งของนั้น ทำให้เกิดความเครียด หรือส่งผลต่อการใช้ชีวิต การทำงาน หรือความสัมพันธ์
อย่างไรก็ตาม หากพบว่าตัวเองเกิดอาการกลัวจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ในด้านของการทำงานและความสัมพันธ์ สามารถรักษาได้โดยการค่อย ๆ เผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวยิ่งได้รับการรักษาเร็วก็สามารถลดความเสี่ยงการเกิดปัญหาสุขภาพจิตอื่นได้ เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และการใช้สารเสพติด
บทความที่เกี่ยวข้อง
ก้าวข้ามผ่านความทุกข์ด้วยพลังของการบำบัด
ในสังคมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบและความกดดัน การรักษาสุขภาพจิตกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้การดูแลสุขภาพร่างกาย
GAD เมื่อความกังวลกลายเป็นปัญหา
ทุกคนย่อมมีความกังวลใจบ้างเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน แต่ความกังวลที่มากเกินไปและต่อเนื่องเป็นเวลานานจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
บาดแผลที่เกิดขึ้นในใจเด็ก อาจเสี่ยงเป็น PTSD
โรค PTSD หรือโรคเครียดหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ เป็นโรคจิตเวชที่สามารถเกิดได้กับทุกคนที่ประสบเหตุการณ์รุนแรงหรือเหตุการณ์สะเทือนใจมา
Talk to Doctor
Call Us
Line BMHH