3 เหตุผลที่ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างรักษาสุขภาพจิต

Share
ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์

การรักษาสุขภาพจิต นอกเหนือไปจาก การทำจิตบำบัด และการกินยา การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ก็เป็นอีกส่วนที่สำคัญ โดยฉพาะสายปาร์ตี้ที่ชื่นชอบการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะ แอลกอฮอล์มีผลต่อสุขภาพจิต และยาที่ใช้รักษาโรคทางจิตเวช เช่น ยาต้านเศร้า (Antidepressant) ซึ่งเป็นยากลุ่มที่ใช้ในการรักษาโรคทางกายและโรคทางจิตเวชหลายโรค เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล รวมไปถึงอาการปวดบางชนิด หากในระหว่างที่ใช้ยาต้านเศร้า มีการดื่มแอลกอฮอล์ไปด้วย อาจก่อให้เกิดผลกระทบได้หลายรูปแบบ ซึ่งถึงแม้ส่วนใหญ่จะไม่ร้ายแรง แต่บางคนอาจได้รับผลร้ายแรงถึงแก่ชีวิตได้

ผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์สำหรับผู้ที่รับประทานยาต้านเศร้า คือ

  1. ผลโดยตรงต่ออารมณ์ และความวิตกกังวล แอลกอฮอล์สามารถทำให้อาการของโรคซึมเศร้า หรือ วิตกกังวล เป็นรุนแรงขึ้นได้ เสมือนเป็นการทำให้ยาที่กินอยู่มีประสิทธิภาพน้อยลง นอกจากนี้ แอลกอฮอล์ยังอาจทำให้ความสามารถในการตัดสินใจ และการยับยั้งชั่งใจลดลง นำไปสู่สถานการณ์ที่ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพจิต เช่น การทะเลาะวิวาท บางคนเมื่อดื่มแอลกอฮอล์แล้วอาจเกิดความรู้สึกสิ้นหวัง หดหู่ อยากทำร้ายตัวเอง
  2. เพิ่มผลข้างเคียงของยา ยาต้านเศร้าแต่ละชนิดมีผลข้างเคียงแตกต่างกันไป ซึ่งแพทย์จะพิจารณายาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ยาบางตัวอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกง่วง การดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับการกินยาเหล่านี้ มีโอกาสทำให้ผู้ป่วยรู้สึก ง่วง มึนงง มากขึ้น นำไปสู่อุบัติเหตุร้ายแรงได้ โดยเฉพาะช่วงแรกของการเริ่มยา หรือยาบางตัวที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการชัก เมื่อใช้ร่วมกับแอลกอฮอล์ก็สามารถทำให้ความเสี่ยงต่อการชักสูงขึ้นได้ด้วย
  3. ปฏิกิริยาระหว่างแอลกอฮอล์และยา แอลกอฮอล์มีผลต่อการทำงานของตับ ซึ่งตับมีหน้าที่ในการเปลี่ยนสภาพและกำจัดยาออกจากร่างกาย ดังนั้น หากตับทำงานได้ไม่ดี ก็จะทำให้ระดับยาไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น ไม่ว่าจะสูงหรือต่ำเกินไป ซึ่งอาจจะทำให้ยาไม่ได้ผลหรือเกิดผลข้างเคียงมากขึ้น นอกจากนี้ ยาบางชนิดสามารถทำปฏิกิริยากับสารในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ หรือ ไวน์ ทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงอาจถึงแก่ชีวิตได้

สำหรับความเชื่อที่ว่าหากดื่มแอลกอฮอล์แล้วจะทำให้หายกังวล หายเศร้า นั้น ไม่เป็นความจริง บางคนเมื่อดื่มแล้วอาจจะรู้สึกครื้นเครงสนุกสนาน แต่นั่นเป็นเพียงความรู้สึกชั่วครั้งชั่วคราว ในระยะยาวนั้น แอลกอฮอล์สามารถทำให้อารมณ์ และความวิตกกังวลแย่ลงได้ นอกจากนี้ โรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวล ก็ยังเพิ่มความเสี่ยงในการติดแอลกอฮอล์ ดังนั้น ผู้ป่วยโรคเหล่านี้จึงยิ่งควรระมัดระวังในการดื่มแอลกอฮอล์เป็นพิเศษ

ทั้งนี้ ใครที่ไม่สามารถเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างการรักษาที่ต้องใช้ยาต้านเศร้า แนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์เพื่อความมั่นใจ และลดความเสี่ยงในการเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ

นพ.ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ตุลาคม 16, 2024
ความเจ็บปวดที่มองไม่เห็น

ปัญหาสุขภาพจิตกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมปัจจุบัน แต่สิ่งที่ตามมาพร้อมกับปัญหาเหล่านี้คือ "การตีตรา" (Stigma)

อาการของผู้ป่วยที่ควรมาหาหมอโรคซึมเศร้า
ตุลาคม 11, 2024
เข้าใจอาการและการรักษาโรคซึมเศร้า ก่อนเข้ามาพบแพทย์

เช็กอารมณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรม ต้องพบแพทย์รักษาโรคซึมเศร้าหรือไม่ แล้วโรคซึมเศร้าอันตรายหรือไม่ สามารถรักษาหายได้ไหม และมีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง

ตุลาคม 10, 2024
โรคซึมเศร้า ภัยเงียบคุกคามสังคม

วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันสุขภาพจิตโลก” (World Mental Health Day) เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต

บทความเพิ่มเติม