รวมคำพูดที่ควรพูดและไม่ควรพูดกับผู้ป่วยซึมเศร้า

Share

“ผู้ป่วยซึมเศร้า” มักมีความอ่อนไหวทางอารมณ์ ดังนั้น การเลือกใช้คำพูดกับผู้ป่วยต้องมีความระมัดระวังอย่างมากเพื่อไม่ให้กระทบความรู้สึก เพราะบางคำพูดผู้พูดอาจคิดว่าจะเป็นผลดีต่อผู้ฟัง แต่ความจริงแล้วอาจทำให้ผู้ฟังรู้สึกไม่ดีกับตัวเองมากขึ้นได้

คำพูดที่ไม่ควรพูด

  1. “จะกังวลทำไม ไม่เห็นจะน่าเครียดเลย”
     แต่ละคนมีความคิดความรู้สึก ให้ความสำคัญกับแต่ละเรื่องไม่เหมือนกัน เรื่องเล็กสำหรับเราอาจเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเขา 
  2. “ไปปฏิบัติธรรมมั้ย?” 
    วิธีนี้ดีในบางคนที่มีความเชื่อหรือชอบทางนี้อยู่แล้ว แต่ก็ไม่ใช่แนวทางของใครหลาย ๆ คน ถ้าสนิทสนมหรือรู้จักกันมากพอ และทราบว่าเขาชอบทางนี้อยู่แล้ว ก็สามารถชักชวนได้
  3. “ไปพบหมอทำไม จะกินยาไปทำไม จัดการที่ใจตัวเองสิ” 
    การที่เขาตัดสินใจรับการรักษา นั่นคือเขาไม่สามารถจัดการด้วยตัวเองได้และต้องการความช่วยเหลือแล้ว เราควรถามด้วยคำถามอื่นแทน เช่น การพบแพทย์ทำให้เขารู้สึกอย่างไร หรือการกินยามีผลกับเขาอย่างไร
  4. “หลายคนเค้าแย่กว่าเธอเยอะ” 
    เป็นการเอาเขาไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ทำให้เกิดความรู้สึกสับสนว่าตัวเขาเองหรือเปล่าที่แย่ เพราะจัดการตัวเองไม่ได้ และอาจทำให้เขารู้สึกไม่ดีกับตัวเอง
  5. “เธอจะไม่เป็นแบบนี้เลย ถ้าตอนนั้นเธอ….” 
    เป็นการตัดสินว่าเขาเลือกทางผิด ผู้ป่วยหลายคนมีแนวโน้มจะคิดวนเวียน โทษตัวเอง พยายามคิดหาสาเหตุของปัญหา ซึ่งความคิดลักษณะนี้จะทำให้ความทุกข์มากขึ้น
  6. บอกให้เขาทำบางอย่างที่คิดว่าจะทำให้เขาดีขึ้น 
    แต่ละคนมีความคิดความเชื่อในบริบทที่แตกต่างกัน ทางแก้ที่เราเห็นว่าดี อาจไม่ใช่สำหรับเขา ดังนั้น การให้คำแนะนำที่ไม่ตรงใจจะทำให้รู้สึกว่าเราไม่เข้าใจเขา และอาจหลีกเลี่ยงที่จะคุยกับเราต่อ
  7. “เธอต้องปล่อยวาง ให้อภัย”
    การปล่อยวางไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่าย คำแนะนำนี้จะยิ่งทำให้เขารู้สึกว่าเราไม่เข้าใจเขา รู้สึกละอายที่ปล่อยวางหรือให้อภัยไม่ได้
  8. “อย่าไปคิดถึงมัน”
    โดยทั่วไปผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักจะคิดวนเวียน และไม่สามารถหยุดคิดหรือหยุดเศร้าได้ การบอกให้ไม่คิดเป็นสิ่งที่เขาพยายามทำอยู่แต่ทำไม่ได้ ผู้ป่วยจะยิ่งทุกข์มากขึ้น
  9. “เธอต้องคิดบวก” 
    ในการทำความคิดบำบัด จิตแพทย์จะค่อย ๆ ปรับความคิดลบของผู้ป่วยให้กลายเป็นความคิดบวก ขั้นตอนนี้ต้องค่อย ๆ ทำตามจังหวะและเวลาที่เหมาะสม จิตแพทย์จะช่วยผู้ป่วยค้นหาสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้กำเนิดความคิดลบนั้น ๆ และค่อย ๆ คลี่คลายปมจากรากเหง้าของมัน เพราะฉะนั้น การไปพูดกับผู้ป่วยว่าให้คิดบวกเลย จะยิ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกทุกข์กว่าเดิม 

คำพูดที่ควรพูด

  1. “อยากคุยเรื่องนี้มั้ย? ฉันพร้อมจะฟังเธอเสมอ” 
    แม้ว่าเราจะไม่เข้าใจเรื่องราวนั้น ๆ  แต่เราก็สามารถอยู่ตรงนั้นเพื่อให้กำลังใจ ฟังอย่างตั้งใจโดยไม่ตัดสินว่าสิ่งที่เขาทำผิดหรือถูก ทำให้เขามั่นใจว่าเขาไม่ได้อยู่คนเดียวและรู้สึกสบายใจที่จะพูดมันออกมา 
  2. “อยากให้ชั้นช่วยอะไร?”
    เป็นคำถามที่เปิดกว้างให้เขาบอกสิ่งที่ต้องการ บางครั้งเขาอาจไม่ต้องการอะไรเลยนอกจากผู้รับฟังที่ดี ถ้าเขาบอกสิ่งที่ต้องการให้ช่วย พยายามช่วยเขาเท่าที่เราจะทำได้เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราแคร์เขา
  3. “สิ่งที่เกิดขึ้น มันคงทำให้เธอรู้สึกลำบาก เธออยากจัดการกับเรื่องนี้ยังไง?”
    เพื่อให้เขารู้สึกว่าเราเข้าใจความยากลำบากของเขา และอยากช่วยเขาจัดการปัญหา
  4. “พักหน่อยมั้ย?” “ไปหาที่เงียบ ๆแล้วพักหน่อยมั้ย?” “ไปเดินเล่นหรือดื่มกาแฟกันมั้ย?”
    ถ้าเขากำลังกังวลมากจนกระสับกระส่ายทำอะไรไม่ถูก ควรช่วยให้เขาเบี่ยงเบนความสนใจไปทำเรื่องง่าย ๆ บางอย่างที่สามารถทำให้ทันทีในตอนนั้น 
  5. “เราจะอยู่ข้างๆเธอนะ” 
    ย้ำเตือนว่าเราพร้อมจะดูแลเขาเมื่อเขาต้องการ
  6. ”เธออยากฟังคำแนะนำของฉันไหม หรือเธออยากเล่ามากกว่า?”
    กรณีที่เรามีคำแนะนำบางอย่างแก่เขา ควรให้เขาตัดสินใจเองว่าต้องการสิ่งนั้นหรือไม่ อย่ายัดเยียดสิ่งที่คิดว่าดีให้เขา เพราะคนเราไม่ได้มีความคิดความเชื่อที่เหมือนกัน และถึงแม้จะแนะนำบางอย่างไปแล้ว เขามีสิทธิ์ที่จะทำหรือไม่ทำตาม หรือหากเขาตัดสินใจทำตามแต่ไม่สำเร็จ เราอาจช่วยเหลือเขาต่อ โดยถามว่ามันเกิดอุปสรรคใดขึ้นและหาวิธีช่วยเหลือเขา 
  7. “ฉันเอาขนมมาให้เธอนะ”
    หากไม่รู้จะพูดอย่างไรแต่อยากดูแลเขา สามารถดูแลเรื่องอื่นเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้เขาสบายตัวมากขึ้นได้ เช่น อาหาร ของว่าง หรือช่วยทำงานบ้าน
  8. “ขอบคุณที่เล่าให้ฉันฟังนะ”
    ถ้าเขาไว้ใจเล่าเรื่องราวให้เราฟัง อย่าลืมที่จะขอบคุณความไว้วางใจที่เขามีให้ ชื่นชมความกล้าของเขาที่จะแบ่งปันสิ่งที่อยู่ในใจกับเรา

แพทย์หญิงณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล
จิตแพทย์ผู้ใหญ่

บทความที่เกี่ยวข้อง

ธันวาคม 19, 2024
Midlife crisis วิกฤตวัยกลางคน โอกาสทองในการสร้างชีวิตใหม่

Midlife Crisis หรือที่เรียกในภาษาไทยว่า "วิกฤตวัยกลางคน" เป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม ที่มักเกิดขึ้นในวัยกลางคน

ธันวาคม 16, 2024
ป้องกัน Burnout ก่อนที่จะหมดไฟ

ภาวะ Burnout หรือภาวะหมดไฟในการทำงานนั้น ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตได้อย่างมาก เพราะไม่ใช่แค่ความเหนื่อยล้าธรรมดา

ธันวาคม 13, 2024
6 วิธีรับมือกับคน Toxic

การต้องเผชิญหน้ากับคน Toxic หรือคนที่สร้างความเป็นพิษให้กับชีวิตนั้นเป็นเรื่องที่น่าเหนื่อยใจ การปล่อยให้ความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้นเรื่อย ๆ

บทความเพิ่มเติม