แค่เครียดสะสม ทำลายสุขภาพไม่รู้ตัว

Share
แค่เครียดสะสม ทำลายสุขภาพไม่รู้ตัว

ความเครียดถือเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน เพราะต้องเจอกับปัญหาต่างๆ เกิดความไม่สบายใจ วิตกกังวล รู้สึกกดดันหลายครั้งทำให้บางคนเกิดความเครียดไม่รู้ตัว จนส่งผลต่อร่างกาย จิตใจ อารมณ์พฤติกรรม ทำให้บางคนป่วยง่าย หงุดหงิดง่ายและนอนไม่หลับ

8 โรคที่อาจเกิดจากความเครียดสะสม

  1. ปวดหัว ส่วนใหญ่พบว่าความเครียดจะกระตุ้นให้อาการปวดหัวกำเริบ แต่มักจะหาสาเหตุไม่เจอ ซึ่งการรักษาจะให้ยาแก้ปวดและทำจิตบำบัดเพื่อให้ปรับตัวกับความเครียด ให้ยาต้านเศร้าหรือยากันชักเพื่อป้องกันอาการปวดหัว และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  2. ปวดกล้ามเนื้อ  เมื่อมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีการแข็งของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น มักเป็นที่ต้นคอ แผ่นหลังส่วนบน มักพบร่วมกับความวิตกกังวล เมื่อยล้า และนอนไม่หลับจากอาการปวด อาการนี้ถูกกระตุ้นด้วยความเครียด โดยความเครียดไปกระตุ้นการหดตัวของหลอดเลือดทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อบริเวณนั้นลดลง เกิดอาการปวดขึ้นมาได้ ซึ่งการรักษา จะให้ยาแก้ปวดยาแก้อักเสบ ยาต้านเศร้า รวมถึงการฝึกผ่อนคลายและการนวด
  3. โรคลำไส้แปรปรวน เมื่อมีอาการปวดท้องและพฤติกรรมการขับถ่ายเปลี่ยนแปลงแบบเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ พบร่วมกับอาการวิตกกังวลได้บ่อย สาเหตุของโรคไม่แน่ชัด อาจเกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาท ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการบีบตัวของทางเดินอาหารและกระทบต่อสมดุลระหว่างการดูดซึมและการหลั่งสารต่างๆของลำไส้ซึ่งการรักษาต้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุทางกายก่อน ใช้ยาลดปวดและปรับการขับถ่ายให้ปกติ ให้ยาต้านเศร้าซึ่งจะช่วยให้การบีบตัวของทางเดินอาหารเป็นปกติและช่วยในเรื่องการนอน ช่วยในคนที่มีซึมเศร้าวิตกกังวลร่วมด้วย
  4. โรคแผลในกระเพาะอาหาร ปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้คือการติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะ การใช้ยาต้านการอักเสบ การสูบบุหรี่ และภาวะซึมเศร้า ความเครียดสัมพันธ์กับโรคนี้เพราะเครียดทำให้เพิ่มการหลั่งกรดจากกระเพาะอาหารและลดการทำงานของภูมิคุ้มกัน ยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียมากขึ้น มีงานวิจัยพบว่าโรคแผลในกระเพาะอาหารมีความสัมพันธ์กับโรควิตกกังวล และประวัติการถูกทำร้ายในวัยเด็ก โดยวิธีการรักษาควรทำจิตบำบัดควบคู่การกินยา เพราะกินยาอย่างเดียวมักไม่ได้ผล
  5. โรคหัวใจ ความเครียดเป็นปัจจัยเสี่ยงและทำให้การพยากรณ์โรคแย่ลง สำหรับวิธีการรักษา ต้องใช้จิตบำบัดเพื่อปรับวิธีการดำเนินชีวิต สร้างอารมณ์ด้านบวก ฝึกผ่อนคลาย การจัดการความเครียด
  6. โรคระบบทางเดินหายใจ ความเครียดอาจเป็นสาเหตุของโรคระบบนี้ ปัญหาด้านจิตใจส่งผลต่อความร่วมมือในการรักษา ความทุกข์ใจจากการเป็นโรคส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ยารักษาโรคนี้มีผลข้างเคียงทำให้เกิดโรคทางจิตเวชโดยโรคทางจิตเวชที่มาด้วยอาการระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อยมากคือ Hyperventilation Syndrome
  7. โรคหอบหืด มีสาเหตุจากระบบภูมิคุ้มกันและมีผลจากจิตใจ ผู้ป่วยโรคหอบหืดมีลักษณะถูกโน้มน้าวได้ง่าย ขี้กังวล กังวลกับความเจ็บป่วยทางกาย พบว่าร้อยละ 30 ของผู้ป่วยโรคหอบหืดมีโรค panic หรือโรคกลัวสถานที่ร่วมด้วย ซึ่งโรคร่วมพวกนี้ทำให้อาการหอบหืดแย่ลง หลายคนรู้สึกอับอายและไม่เชื่อมั่นในตัวเอง ซึ่งเป็นอาการของโรคซึมเศร้า ส่งผลถึงการดูแลตัวเองได้ไม่ดี การรับการรักษาไม่ต่อเนื่อง ส่วนผลข้างเคียงของยารักษาหอบหืด อาจทำให้กระสับกระส่าย ตื่นเต้น ใจสั่น นอนไม่หลับ คล้ายอาการของโรควิตกกังวล จึงเป็นบทบาทของจิตแพทย์ในการช่วยวินิจฉัยแยกโรค สำหรับการรักษา มองหาปัจจัยทางจิตใจ โรคร่วมทางจิตเวช ผลข้างเคียงจากการใช้ยา ร่วมกับการใช้ยารักษาโรคหอบหืด
  8. ความเครียดมีความสัมพันธ์กับระบบภูมิคุ้มกัน คือความเครียดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบภูมิคุ้มกันและมีผลต่อสุขภาพร่างกาย ส่งผลชัดเจนต่อโรคติดเชื้อและการรักษาบาดแผล

ทั้งนี้ หากคุณรู้สึกว่าความเครียดเริ่มมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อจะได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง หากปล่อยให้มีความเครียดสะสมเป็นเวลานาน อาจส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพตามมาได้

พญ.ณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล
จิตแพทย์โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital

บทความที่เกี่ยวข้อง

พฤศจิกายน 21, 2024
ก้าวข้ามผ่านความทุกข์ด้วยพลังของการบำบัด

ในสังคมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบและความกดดัน การรักษาสุขภาพจิตกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้การดูแลสุขภาพร่างกาย

พฤศจิกายน 17, 2024
GAD เมื่อความกังวลกลายเป็นปัญหา

ทุกคนย่อมมีความกังวลใจบ้างเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน แต่ความกังวลที่มากเกินไปและต่อเนื่องเป็นเวลานานจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

พฤศจิกายน 15, 2024
บาดแผลที่เกิดขึ้นในใจเด็ก อาจเสี่ยงเป็น PTSD

โรค PTSD หรือโรคเครียดหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ เป็นโรคจิตเวชที่สามารถเกิดได้กับทุกคนที่ประสบเหตุการณ์รุนแรงหรือเหตุการณ์สะเทือนใจมา

บทความเพิ่มเติม