ความเครียดถือเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน เพราะต้องเจอกับปัญหาต่างๆ เกิดความไม่สบายใจ วิตกกังวล รู้สึกกดดันหลายครั้งทำให้บางคนเกิดความเครียดไม่รู้ตัว จนส่งผลต่อร่างกาย จิตใจ อารมณ์พฤติกรรม ทำให้บางคนป่วยง่าย หงุดหงิดง่ายและนอนไม่หลับ
8 โรคที่อาจเกิดจากความเครียดสะสม
- ปวดหัว ส่วนใหญ่พบว่าความเครียดจะกระตุ้นให้อาการปวดหัวกำเริบ แต่มักจะหาสาเหตุไม่เจอ ซึ่งการรักษาจะให้ยาแก้ปวดและทำจิตบำบัดเพื่อให้ปรับตัวกับความเครียด ให้ยาต้านเศร้าหรือยากันชักเพื่อป้องกันอาการปวดหัว และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ปวดกล้ามเนื้อ เมื่อมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีการแข็งของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น มักเป็นที่ต้นคอ แผ่นหลังส่วนบน มักพบร่วมกับความวิตกกังวล เมื่อยล้า และนอนไม่หลับจากอาการปวด อาการนี้ถูกกระตุ้นด้วยความเครียด โดยความเครียดไปกระตุ้นการหดตัวของหลอดเลือดทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อบริเวณนั้นลดลง เกิดอาการปวดขึ้นมาได้ ซึ่งการรักษา จะให้ยาแก้ปวดยาแก้อักเสบ ยาต้านเศร้า รวมถึงการฝึกผ่อนคลายและการนวด
- โรคลำไส้แปรปรวน เมื่อมีอาการปวดท้องและพฤติกรรมการขับถ่ายเปลี่ยนแปลงแบบเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ พบร่วมกับอาการวิตกกังวลได้บ่อย สาเหตุของโรคไม่แน่ชัด อาจเกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาท ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการบีบตัวของทางเดินอาหารและกระทบต่อสมดุลระหว่างการดูดซึมและการหลั่งสารต่างๆของลำไส้ซึ่งการรักษาต้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุทางกายก่อน ใช้ยาลดปวดและปรับการขับถ่ายให้ปกติ ให้ยาต้านเศร้าซึ่งจะช่วยให้การบีบตัวของทางเดินอาหารเป็นปกติและช่วยในเรื่องการนอน ช่วยในคนที่มีซึมเศร้าวิตกกังวลร่วมด้วย
- โรคแผลในกระเพาะอาหาร ปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้คือการติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะ การใช้ยาต้านการอักเสบ การสูบบุหรี่ และภาวะซึมเศร้า ความเครียดสัมพันธ์กับโรคนี้เพราะเครียดทำให้เพิ่มการหลั่งกรดจากกระเพาะอาหารและลดการทำงานของภูมิคุ้มกัน ยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียมากขึ้น มีงานวิจัยพบว่าโรคแผลในกระเพาะอาหารมีความสัมพันธ์กับโรควิตกกังวล และประวัติการถูกทำร้ายในวัยเด็ก โดยวิธีการรักษาควรทำจิตบำบัดควบคู่การกินยา เพราะกินยาอย่างเดียวมักไม่ได้ผล
- โรคหัวใจ ความเครียดเป็นปัจจัยเสี่ยงและทำให้การพยากรณ์โรคแย่ลง สำหรับวิธีการรักษา ต้องใช้จิตบำบัดเพื่อปรับวิธีการดำเนินชีวิต สร้างอารมณ์ด้านบวก ฝึกผ่อนคลาย การจัดการความเครียด
- โรคระบบทางเดินหายใจ ความเครียดอาจเป็นสาเหตุของโรคระบบนี้ ปัญหาด้านจิตใจส่งผลต่อความร่วมมือในการรักษา ความทุกข์ใจจากการเป็นโรคส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ยารักษาโรคนี้มีผลข้างเคียงทำให้เกิดโรคทางจิตเวชโดยโรคทางจิตเวชที่มาด้วยอาการระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อยมากคือ Hyperventilation Syndrome
- โรคหอบหืด มีสาเหตุจากระบบภูมิคุ้มกันและมีผลจากจิตใจ ผู้ป่วยโรคหอบหืดมีลักษณะถูกโน้มน้าวได้ง่าย ขี้กังวล กังวลกับความเจ็บป่วยทางกาย พบว่าร้อยละ 30 ของผู้ป่วยโรคหอบหืดมีโรค panic หรือโรคกลัวสถานที่ร่วมด้วย ซึ่งโรคร่วมพวกนี้ทำให้อาการหอบหืดแย่ลง หลายคนรู้สึกอับอายและไม่เชื่อมั่นในตัวเอง ซึ่งเป็นอาการของโรคซึมเศร้า ส่งผลถึงการดูแลตัวเองได้ไม่ดี การรับการรักษาไม่ต่อเนื่อง ส่วนผลข้างเคียงของยารักษาหอบหืด อาจทำให้กระสับกระส่าย ตื่นเต้น ใจสั่น นอนไม่หลับ คล้ายอาการของโรควิตกกังวล จึงเป็นบทบาทของจิตแพทย์ในการช่วยวินิจฉัยแยกโรค สำหรับการรักษา มองหาปัจจัยทางจิตใจ โรคร่วมทางจิตเวช ผลข้างเคียงจากการใช้ยา ร่วมกับการใช้ยารักษาโรคหอบหืด
- ความเครียดมีความสัมพันธ์กับระบบภูมิคุ้มกัน คือความเครียดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบภูมิคุ้มกันและมีผลต่อสุขภาพร่างกาย ส่งผลชัดเจนต่อโรคติดเชื้อและการรักษาบาดแผล
ทั้งนี้ หากคุณรู้สึกว่าความเครียดเริ่มมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อจะได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง หากปล่อยให้มีความเครียดสะสมเป็นเวลานาน อาจส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพตามมาได้
พญ.ณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล
จิตแพทย์โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital
บทความที่เกี่ยวข้อง
โรคแกล้งป่วย เมื่อความเจ็บป่วยกลายเป็นการแสดง
การเจ็บป่วยเป็นเรื่องธรรมชาติที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ แต่ในบางกรณี ความเจ็บป่วยกลับถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อแสวงหาผลประโยชน์บางอย่าง
5 อาการ โรคหลายบุคลิก
บุคลิกภาพของแต่ละบุคคล อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติเพราะคนเรามักมีการปรับตัวเข้ากับสังคม
โรคชอบขโมย ไม่ใช่แค่ “ขโมย” แต่เป็น “โรค”
การลักเล็กขโมยน้อย เป็นพฤติกรรมที่ใครเจอก็ต้องส่ายหัว เพราะต้องคอยระแวงข้าวของของตัวเองอยู่ตลอดเวลา แต่ในทางจิตเวชมีอยู่ 1
Talk to Doctor
Call Us
Line BMHH