เครียดเกินไป บั่นทอนสุขภาพจิต ระวัง “ภาวะการปรับตัวผิดปกติ”

Share

ความเครียดเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นจากความกดดันจากการทำงาน การเงิน ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง รวมไปถึงภาพลักษณ์การเปรียบเทียบจากคนในสังคม  ซึ่งหากสะสมความเครียดเป็นระยะเวลานาน ย่อมส่งกระทบทางลบต่อสุขภาพกาย และสุขภาพจิต จนอาจทำให้เป็นภาวะการปรับตัวผิดปกติ (Adjustment Disorder) หรือ ที่หลาย ๆ คนเรียกว่า โรคเครียด

นายแพทย์ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์ จิตแพทย์ โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า โรคเครียด หรือ ภาวะการปรับตัวผิดปกติ (Adjustment Disorder) คือกลุ่มโรคทางจิตเวช มักเกิดขึ้นหลังจากที่เผชิญกับสถานการณ์ หรือสิ่งที่เข้ามากดดัน คุกคามต่อร่างกายและจิตใจ ทำให้เกิดความเครียดสะสมหรือเครียดจัด และไม่สามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสม จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การทำงาน การเรียน ความสัมพันธ์ หรือการเข้าสังคม ซึ่งเมื่อร่างกายเกิดความเครียด จะหลั่งฮอร์โมนความเครียด 2 ชนิดที่เรียกว่า คอร์ติซอลและอะดรีนาลีน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีในทุกคน มากน้อยแตกต่างกันไป โดยแต่ละคนจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อความเครียดแตกต่างกัน

ความเครียดอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ดังนี้

  1. ปัจจัยภายใน เช่น การเจ็บป่วยหรือโรคประจำตัว พัฒนาการตามวัย ทัศนคติ บุคลิกภาพ สารเคมีในสมองไม่สมดุลทำให้เครียด วิตกกังวล และเศร้าง่าย รวมถึงสุขภาพจิตของแต่ละคนที่มีความแข็งแรงน้อยลง ขาดการอดทนรอคอย การแบ่งปัน และการควบคุมอารมณ์
  2. ปัจจัยภายนอก เช่น ความเครียดที่เกิดขึ้นจากการทำงาน การเรียน  ปัญหาทางการเงิน หนี้สิน การใช้ชีวิตประจำวัน ปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ทะเลาะกับคนในครอบครัวหรือแฟน ปัญหาการเมือง สังคม ความปลอดภัยในชีวิต การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักหรือสัตว์เลี้ยง

อาการของภาวะการปรับตัวผิดปกติ สามารถแสดงออกมาได้หลายรูปแบบ

ซึ่งผู้ป่วยมักมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นภายใน 3 เดือนหลังเจอกับสถานการณ์ที่ตึงเครียดและอาการจะหายไปภายใน 6 เดือนหลังสิ้นสุดสถานการณ์ แต่หากอาการเป็นนานกว่า 6 เดือน จะส่งผลให้เกิดภาวะการปรับตัวผิดปกติเรื้อรัง อาจทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพจิตที่รุนแรง เช่น โรควิตกกังวล ซึมเศร้า และถ้าหากมีความคิดทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น ควรรีบไปพบจิตแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาและหาวิธีในการจัดการความเครียดที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน

การรักษาภาวะปรับตัวผิดปกติขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค มีทั้งการรักษาด้วยยา เช่น ยาต้านเศร้า ยาระงับอาการวิตกกังวล ยานอนหลับ โดยแพทย์จะพิจารณาให้ยาตามความเหมาะสมของอาการ นอกจากนี้ การรักษาอีกส่วนที่สำคัญ คือ การทำจิตบำบัด (Psychotherapy) เป็นวิธีการรักษาด้วยการพูดคุย มีทั้งการพูดคุยแบบบุคคล กลุ่ม หรือครอบครัว เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยทำความเข้าใจกับสาเหตุของความเครียดและผลกระทบที่เกิดขึ้น

นายแพทย์ณชารินทร์ แนะนำวิธีการจัดการความเครียดว่า สามารถเริ่มจากการปรับความคิด ลดการยึดติด มีเหตุผล ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นว่าอะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด ไม่โทษตัวเองหรือโทษคนอื่น มองหาแนวทางแก้ไข,  ฝึกมองแง่บวก การมองปัญหาหรือสิ่งที่เกิดขึ้นในแง่บวกจะช่วยให้เกิดกำลังใจแต่อาจต้องใช้เวลา, เรียนรู้การให้อภัย ยอมรับความจริงว่าไม่มีใครในโลกนี้สมบูรณ์แบบ ทุกคนเองก็เคยทำผิดพลาดทั้งนั้น  ซึ่งการให้อภัยจะช่วยให้ผู้นั้นก้าวข้ามความโกรธ สามารถผ่อนคลายได้ และสามารถมีความสุขกับการทำงานได้ง่ายขึ้น, ดูแลรักษาสุขภาพ เช่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงสิ่งเสพติด นอนหลับให้เพียงพอ รับประทานอาหารมีประโยชน์, จัดเวลาส่วนตัว และฝึกทำอะไรให้ช้าลง คนที่มีสมาธิและสติที่ดีจะมีโอกาสรู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง ทำให้การควบคุมอารมณ์ทำได้ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นการลดความเครียด และลดโอกาสในการพาตัวเองไปสู่สถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียดได้อีกด้วย

นายแพทย์ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์
จิตแพทย์ โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital

บทความที่เกี่ยวข้อง

พฤศจิกายน 21, 2024
ก้าวข้ามผ่านความทุกข์ด้วยพลังของการบำบัด

ในสังคมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบและความกดดัน การรักษาสุขภาพจิตกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้การดูแลสุขภาพร่างกาย

พฤศจิกายน 17, 2024
GAD เมื่อความกังวลกลายเป็นปัญหา

ทุกคนย่อมมีความกังวลใจบ้างเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน แต่ความกังวลที่มากเกินไปและต่อเนื่องเป็นเวลานานจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

พฤศจิกายน 15, 2024
บาดแผลที่เกิดขึ้นในใจเด็ก อาจเสี่ยงเป็น PTSD

โรค PTSD หรือโรคเครียดหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ เป็นโรคจิตเวชที่สามารถเกิดได้กับทุกคนที่ประสบเหตุการณ์รุนแรงหรือเหตุการณ์สะเทือนใจมา

บทความเพิ่มเติม