ทุกคนย่อมใฝ่ฝันถึงความสุข และพยายามสรรหาสิ่งที่จะมาสร้างความสุขให้แก่ตนเอง แต่ถ้าพบว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวกำลังอยู่ในภาวะไร้ความรู้สึก ไม่สุข ไม่ทุกข์ และรู้สึกเฉยชา ไม่อยากทำอะไร ราวกับชีวิตไร้ซึ่งสีสันโดยไม่รู้ตัวอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนของ “ภาวะสิ้นยินดี” ซึ่งเป็นภาวะทางจิตเวชที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
แพทย์หญิงณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล จิตแพทย์โรงพยาบาล BMHH- Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า โรคไม่ยินดียินร้าย หรือ “ภาวะสิ้นยินดี (Anhedonia)” คืออาการผิดปกติทางจิตเวชที่ผู้ป่วยจะเฉยชาต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัว และมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างน้อยลง ส่งผลให้ไม่มีความสุข ไม่มีความสนุก ไม่มีอารมณ์ร่วมกับสิ่งที่เจอในชีวิตประจำวัน ทั้งที่เมื่อก่อนสิ่งต่าง ๆ รอบตัวสามารถสร้างความสุขให้กับตัวเองได้ เช่น การไปดูหนัง ฟังเพลง ไปเที่ยวกับคนรัก ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถพบได้ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ โรคเครียดหลังจากประสบกับเหตุการณ์สะเทือนใจ หรือในบางครั้งก็เป็นผลจากโรคทางกาย เช่น โรคพาร์กินสัน โรคหลอดเลือดทางสมอง โดยอาการของภาวะสิ้นยินดีจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
สาเหตุของภาวะสิ้นยินดี
ภาวะสิ้นยินดี หรือโรคไร้ความรู้สึก มีสาเหตุมาจากความผิดปกติในสมอง เนื่องจากโดยปกติแล้วสมองจะหลั่งสารแห่งความสุข หรือฮอร์โมนโดปามีนออกมา เมื่อทำในสิ่งที่ชอบ แต่สำหรับคนที่มีภาวะสิ้นยินดี สมองจะไม่มีการหลั่งสารโดปามีน จึงทำให้รู้สึกไม่มีความสุขเวลาทำกิจกรรมที่ตัวเองเคยชอบ
อาการของภาวะสิ้นยินดี
ภาวะสิ้นยินดี จะแสดงอาการออกมาในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งที่พบมาก มีดังต่อไปนี้
- ไม่ชอบเข้าสังคม
- ไม่รู้สึกสุข ไม่รู้สึกเศร้า
- ความสุขจากกิจวัตรประจำวันลดลง
- ความสัมพันธ์กับคนใกล้ตัวลดน้อยลง
- สนใจงานอดิเรกที่เคยทำก่อนหน้านี้น้อยลง
- เกิดความรู้สึกสิ้นหวัง หมดกำลังใจ
- ไม่ตื่นเต้นที่จะออกไปเที่ยวกับเพื่อนอีกต่อไป
- ความต้องการทางเพศลดลง
- ไม่อยากได้รับความช่วยเหลือจากใคร
- ไม่อยากฟังเรื่องราวคนอื่น
ประเภทของภาวะสิ้นยินดี
ภาวะสิ้นยินดีจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
- ภาวะสิ้นยินดีทางสังคม (Social Anhedonia) ผู้ป่วยจะไม่อยากพบเจอ พูดคุย ไม่ได้ต้องการสร้างสัมพันธ์กับบุคคลใด
- ภาวะสิ้นยินดีทางร่างกาย (Physical Anhedonia) ผู้ป่วยจะไม่มีความรู้สึกเพลิดเพลินกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ไปกินอาหาร ไปดูหนัง ก็ไม่มีความสุขเหมือนที่เคย
แนวทางการรักษาของภาวะสิ้นยินดี
ภาวะสิ้นยินดี ไม่มีวิธีการรักษาเฉพาะเจาะจง แต่จะเป็นการรักษาด้วยการวินิจฉัยว่ามีภาวะอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่ โดยจะมีแนวทางในการรักษา ดังนี้
- จิตแพทย์จะตรวจประวัติทางการแพทย์ สอบถามอาการ ความคิด อารมณ์ ความรู้สึก รวมถึงการตรวจทางร่างกาย เพื่อหาโรคและความผิดปกติอื่น ๆ เพื่อนำมาประเมินและค้นหาสาเหตุที่แท้จริง
- หากไม่มีความผิดปกติทางร่างกาย และเป็นความผิดปกติทางจิต จิตแพทย์อาจรักษาด้วยวิธีการพูดคุย ให้คำปรึกษา หรือคำแนะนำในการหากิจกรรมที่ตัวเองทำแล้วมีความสุข เช่น ฟังเพลง, ทำกิจกรรมกับคนรัก, กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ, เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม โดยเลือกเข้าสังคมที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจ
- หากมีภาวะซึมเศร้า แพทย์อาจพิจารณาให้รับประทานยาต้านซึมเศร้า พร้อมกับการให้ดูแลสุขภาพกาย
- หากอาการไม่ตอบสนอง แพทย์อาจพิจารณาการรักษาด้วยเครื่องมือต่าง ๆ ซึ่งได้ผลดีในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เช่น การกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า dTMS (Deep Transcranial Magnetic Stimulation) การใช้เครื่องกระตุ้นเส้นประสาทเวกัส VNS (Vagus Nerve Stimulation) ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงอวัยวะภายในช่องอกและช่องท้อง ตลอดจนมีประสาทรับความรู้สึกจากอวัยวะต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย รวมไปถึงการรักษาด้วยกระแสไฟฟ้า ECT (Electroconvulsive Therapy)
แนวทางการป้องกันภาวะสิ้นยินดี
เช่นเดียวกับการรักษาภาวะสิ้นยินดี ที่ไม่อาจกล่าวได้ว่ามีวิธีป้องกันที่เฉพาะเจาะจง และต้องอาศัยการสังเกต ซึ่งควรได้รับความร่วมมือจากคนรอบข้าง เช่น ครอบครัว หรือเพื่อน และสำคัญที่สุดคือตัวของผู้ป่วยเองที่ควรหมั่นสังเกตอาการ และดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจให้ดี เช่น
- ผู้ป่วยควรหมั่นสังเกตอาการตัวเอง ว่าอะไรเป็นปัจจัยกระตุ้นความเครียด พยายามปรับวิถีชีวิตเพื่อลดความเครียดเหล่านั้นเท่าที่จะทำได้
- ผู้ป่วยควรมองหาความสุขจากสิ่งรอบ ๆ ตัว เช่น เขียนบันทึกประจำวัน ที่เกิดขึ้นอย่างน้อยวันละ 1 เรื่อง ไม่จำเป็นต้องเป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่ อาจเป็นความสุขเล็ก ๆ เช่น วันนี้ได้กินอาหารอร่อย
- ผู้ป่วยควรออกกำลังกายเป็นประจำ เพราะในระหว่างการออกกำลังกาย หรือการทำกิจกรรมทางกาย จะเกิดการหลั่งสารโดปามีนกระตุ้น “ความสุข” ให้แก่สมอง
หากพบว่าตนเองหรือคนใกล้ตัว เริ่มมีภาวะสิ้นยินดี ไม่ยินดี ยินร้าย กับความสุขและความทุกข์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อย่าละเลยหรือมองข้าม ควรรีบขอความช่วยเหลือจากนักจิตวิทยา ที่โรงพยาบาลแบงค็อก เมนทัล เฮลท์ โรงพยาบาลจิตเวชเฉพาะทางในเครือของโรงพยาบาลเวชธานี เรายินดีให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้คุณมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น และค้นหาความสุขของตนเองได้ในที่สุด
แพทย์หญิงณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล
จิตแพทย์โรงพยาบาล BMHH- Bangkok Mental Health Hospital
สามารถนัดหมายล่วงหน้าได้ที่
โทรศัพท์: 02-589-1889LINE Official Account: @bmhh
Location & Google Map: ติวานนท์ 39
Website: bangkokmentalhealthhospital.com
บทความที่เกี่ยวข้อง
Social Detox เพื่อชีวิตที่สมดุล
คนทั่วโลกใช้เวลาบนโซเชียลมีเดียเฉลี่ยประมาณ 2-3 ชั่วโมงต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า
เช็กสัญญาณซึมเศร้าหลังคลอดที่คุณแม่ควรรู้
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเป็นเรื่องปกติที่พบได้บ่อยในคุณแม่หลังคลอด ประมาณ 1 ใน 7 ของคุณแม่จะประสบกับภาวะนี้ มักเกิดขึ้นภายใน 2 สัปดาห์แรกหลังคลอด
เมื่อใจต้องเผชิญกับความสูญเสีย ดูแลใจอย่างไรให้กลับมาแข็งแรง
การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักเป็นเรื่องที่ทุกคนอาจต้องเผชิญในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต ความรู้สึกเศร้าและอ้างว้างที่เกิดขึ้นสามารถสร้างความท้าทาย
Talk to Doctor
Call Us
Line BMHH