สมาธิสั้น
โรคสมาธิสั้นมีอาการอย่างไร อันตรายไหม รักษาอย่างไร
โรคสมาธิสั้น หรือ ADHD (Attention Decit Hyperactivity Disorder) เป็นภาวะผิดปกติที่เกิดขึ้นจากสมองส่วนหน้าที่ดูแลและกำกับในเรื่องของการมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง การวางแผน รวมถึงการควบคุมตัวเองและการยับยั้งชั่งใจ ส่งผลต่อพฤติกรรมจนทำให้เกิดปัญหาเรื่องการเรียนรู้ พัฒนาการ และการอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมตามมา ซึ่งมักจะมีอาการตั้งแต่ช่วงเด็ก ติดตัวไปจนถึงช่วงวัยรุ่น และส่งผลเห็นชัดเจนในช่วงวัยผู้ใหญ่ได้
โรคสมาธิสั้น คืออะไร
โรคสมาธิสั้น คือ อาการความบกพร่องของสมองส่วนหน้า ทำให้ไม่สามารถควบคุมตัวเองให้มีสมาธิ หรือทำอะไรเป็นระยะเวลานาน ๆ ได้ มักพบในเด็กอายุ 3-12 ปี และพบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง โดยสังเกตได้จากการขาดสมาธิ ซนมากกว่าเด็กในวัยเดียวกัน ขาดการยั้งคิดหรือตริตรองให้ดี รวมถึงเรียนรู้ได้ช้า และส่งผลต่อกิจวัตรประจำวัน
สาเหตุ
โรคสมาธิสั้นเกิดจากความผิดปกติของสมองส่วนหน้า ซึ่งมักจะมาจากสาเหตุหลัก ๆ ดังนี้
- พันธุกรรม หากมีคนในครอบครัวเคยเป็นโรคสมาธิสั้น จะเพิ่มความเสี่ยงของโรคได้ถึง 4-5 เท่า
- สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่น การคลอดก่อนกำหนด การได้รับสารเคมี
- การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม เช่น การให้ดูโทรทัศน์ สมาร์ตโฟน หรือเล่นเกมเป็นระยะเวลานาน
อาการของโรคที่พบได้บ่อย
อาการของโรคสมาธิสั้นที่มักจะพบได้บ่อยในเด็กและผู้ใหญ่ มีดังต่อไปนี้
อาการ ADHD ที่มักพบในเด็กสมาธิสั้น
- ขาดสมาธิในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างต่อเนื่อง (Inattention) ไม่มีสมาธิ ว่อกแว่กง่าย ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เป็นระยะเวลานาน ๆ ขาดความละเอียดรอบคอบ
- ซนมากเกินไป ไม่สามารถอยู่นิ่ง ๆ ได้เป็นระยะเวลานาน ๆ (Hyperactive) อาการเด็กสมาธิสั้นที่พบบ่อย ๆ คือ พูดมากกว่าปกติ หากอยู่ในชั้นเรียนก็มักจะเป็นเด็กที่ชวนเพื่อนคุยไม่หยุด
- หุนหันพลันแล่น (Impulsivity) ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ มักทำก่อนที่จะคิด ไม่สามารถรอคอยได้ ชอบพูดแทรก ไม่สามารถรอให้คนอื่นพูดจนจบประโยคได้
อาการ ADHD ที่มักพบในผู้ใหญ่
- มีปัญหากับการจัดลำดับความสำคัญในการทำงาน หรือไม่สามารถบริหารเวลาในการทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงไม่สามารถทำงานหลายอย่างพร้อมกันได้ในเวลาเดียวกัน
- มีความอดทนต่ำ และหงุดหงิดง่าย ส่งผลต่อการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมต่าง ๆ ในสังคม
- มีปัญหากับการจัดการความเครียด ไม่สามารถทนอยู่ในสภาวะดังกล่าวได้
จำเป็นต้องพบแพทย์หรือไม่
แนะนำให้ผู้ปกครองหมั่นสังเกตพฤติกรรมของเด็กโดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่อยู่ในวัยซุกซน หรือไม่สามารถอยู่นิ่งได้นาน ๆ หากไม่แน่ใจว่าเข้าข่ายอาการเด็กสมาธิสั้นหรือไม่ แนะนำให้พามาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอย่างละเอียด และป้องกันไม่ให้ส่งผลต่อพัฒนาการการเรียนรู้ และการใช้ชีวิตในอนาคตของเด็ก จนกระทั่งอาจกลายเป็นโรคสมาธิสั้นติดตัวไปจนถึงวัยผู้ใหญ่
ภาวะฉุกเฉิน
โรคสมาธิสั้นไม่มีภาวะฉุกเฉินที่ต้องมาพบแพทย์ในทันที แต่หากมีอาการฉุนเฉียวอย่างรุนแรง แนะนำให้พาไปพบแพทย์ชำนาญการด้านจิตเวชเพื่อวินิจฉัยและรักษาต่อไป
การวินิจฉัย
โรคสมาธิสั้นเป็นการวินิจฉัยทางคลินิก โดยพิจารณาจากประวัติและพฤติกรรมของคนไข้ตามเกณฑ์ทางการแพทย์ เช่น มีอาการขาดสมาธิ อยู่ไม่นิ่่ง หุนหันพลันแล่นมากกว่าปกติของเด็กในวัยเดียวกันโดยอาการดังกล่าวจะเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนอายุ 7 ปี มักส่งผลต่อการเรียนรู้ พัฒนาการ และการทำงานของผู้ป่วย แต่ไม่ได้เป็นโรคทางจิตเวชอื่น ๆ
การรักษา
การรักษาโรคสมาธิสั้นทั้งในเด็กและผู้ใหญ่จะเป็นในลักษณะของการผสมผสานวิธีรักษาที่เหมาะสมตามแต่ละบุคคล และต้องอาศัยความร่วมมือกับบุคคลใกล้ชิด โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้
- ปรับสิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงดู
- ในกรณีเด็กสมาธิสั้น แพทย์จะอธิบายและให้ความรู้ รวมถึงคำแนะนำในการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับเด็กและผู้ปกครอง หากมีอาการรุนแรง อาจจะต้องย้ายไปเรียนในหลักสูตรการศึกษาพิเศษ เพื่อรับการดูแลอย่างเหมาะสมทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน
- ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นผู้ใหญ่อาจจะแนะนำญาติหรือบุคคลใกล้ชิดให้ช่วยสนับสนุนและช่วยดูแลอย่างใกล้ชิด
- รักษาด้วยยา โดยแพทย์จะสั่งยารักษาโรคสมาธิสั้นตามความเหมาะสมของแต่ละราย ซึ่งยารักษาโรคสมาธิสั้นแต่ละชนิดจะออกฤทธิ์ที่แตกต่างกันออกไป หากมีอาการผิดปกติ คนไข้สามารถกลับมาพบแพทย์เพื่อปรับยาให้เหมาะสมได้
แม้ว่าโรคสมาธิสั้นจะเป็นโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของสมองส่วนหน้า แต่ก็เป็นโรคที่สามารถรักษาได้ แนะนำให้ดูแลอย่างเหมาะสมตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการและการเรียนรู้ที่ดี อย่างไรก็ตาม หากมีอาการข้างต้นสามารถนัดหมายจิตแพทย์ของโรงพยาบาลแบงค็อก เมนทัล เฮลท์ เพราะมีทีมสหสาขาวิชาชีพที่มากประสบการณ์ ช่วยดูแลสุขภาพจิตของคุณได้ในระยะยาว นัดหมายและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 02-589-1889 เวลา 8.00-20.00 น.
Talk to Doctor
Call Us
Line BMHH