

“ขโมย” คำๆ นี้มักถูกผูกโยงกับความผิดทางกฎหมาย หรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แต่รู้หรือไม่ว่าบางครั้ง การขโมยอาจเป็นผลมาจากโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “โรคขี้ขโมย” (Kleptomania) ที่ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมความอยากขโมยสิ่งของได้ แม้ว่าจะรู้ว่าการกระทำนั้นผิด
นายแพทย์ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์ จิตแพทย์โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health กล่าวว่า โรคขี้ขโมย(Kleptomania) เป็นความผิดปกติทางจิตที่ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมความอยากขโมยสิ่งของได้ แม้จะรู้ว่าสิ่งของนั้นไม่มีประโยชน์หรือมูลค่าทางการเงิน ซึ่งผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะไม่มีการวางแผนล่วงหน้า และจะลักขโมยสิ่งของเพื่อสร้างความรู้สึกผ่อนคลายหรือพึงพอใจชั่วคราวให้กับตัวเอง แต่ความน่ากลัวของโรคนี้คือ หลายคนไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคนี้ จนทำให้เกิดปัญหาชีวิตมากมาย เนื่องจากคนที่ป่วยด้วยโรคนี้มักมีอาการวิตกกังวลมาก และเกิดปัญหาการควบคุมอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงบางคนอาจมีการใช้ยาเสพติดร่วมด้วย ซึ่งถ้าไม่รีบรักษาอาจป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจนนำมาสู่การคิดสั้นฆ่าตัวตาย
โรคขี้ขโมยมีอาการที่ชัดเจนและแตกต่างจากการขโมยทั่วไปดังนี้
- ขาดความยับยั้งชั่งใจในการขโมยของทั้งที่ไม่ได้ต้องการ
- รู้สึกอยากขโมยของบ่อยๆ ซึ่งมักเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน และจะเป็นผู้ขโมยแต่เพียงผู้เดียว
- รู้สึกดีหรือพึงพอใจจากการขโมยของ
- ของที่ขโมยมักมีมูลค่าไม่สูง หรือเป็นสิ่งของที่สามารถซื้อได้ด้วยตนเอง
- ของที่ถูกขโมยมักจะถูกเก็บไว้และไม่นำมาใช้งาน หรืออาจส่งคืนไปยังสถานที่ที่ขโมยของมา
สาเหตุของโรคขี้ขโมย เกิดจากสารเคมีในสมองทำงานผิดปกติจนเกิดปัญหาเรื่องการยับยั้งพฤติกรรมของตนเอง, พันธุกรรม, การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมในวัยเด็ก นอกจากนี้โรคขี้ขโมยมักเกิดร่วมกับโรคซึมเศร้า ความวิตกกังวล และโรคย้ำคิดย้ำทำ
โรคขี้ขโมยเป็นโรคที่สามารถรักษาได้โดยจะเน้นไปที่การรักษาด้วยยา และการทำจิตบำบัด เช่น การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy: CBT) เพื่อช่วยให้เข้าใจในอาการของตนเอง รวมถึงปรับเปลี่ยนแนวคิดและพฤติกรรมให้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม โรคขี้ขโมยเป็นโรคที่ต้องการความเข้าใจและการรักษาอย่างจริงจัง เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมแรงกระตุ้นของตนเองได้ และมักรู้สึกเสียใจกับการกระทำที่เกิดขึ้น หากได้รับการรักษาและการสนับสนุนที่เหมาะสม ผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูตัวเองและกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ
นายแพทย์ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์
จิตแพทย์โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health
บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคจิตเภทกับโรคจิตเวชต่างกันอย่างไร ทำเข้าใจเพื่อช่วยรับมือ
อาการป่วยทางใจ สามารถเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ มีโอก […]

ADHD ในผู้ใหญ่: เมื่อสมาธิสั้นไม่ได้มีแค่ในเด็ก
หลายคนอาจเข้าใจว่าโรคสมาธิสั้น หรือ ADHD (Attention-Deficit/Hyperactivity Disorder) เป็นปัญหาที่พบเฉพาะในเด็กเท่านั้น

ข้อแนะนำในการดูแลและรับมือเด็กสมาธิสั้นสำหรับพ่อแม่
สำหรับพ่อแม่ที่มีลูก ๆ เป็นโรคสมาธิสั้น (Attention Defi […]
Talk to Doctor
Call Us
Line BMHH