โรคซึมเศร้าเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพจิตที่พบได้บ่อยและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ทำให้การรักษาโรคซึมเศร้าจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยคืนคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งในปัจจุบันมีวิธีการรักษาโรคซึมเศร้าหลายวิธี เช่น การรักษาด้วยยา การทำจิตบำบัด และเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดคือ dTMS หรือ Deep Transcranial Magnetic Stimulation เป็นการใช้สนามแม่เหล็กไฟฟ้ากระตุ้นเซลล์ประสาทในสมองส่วนลึก เพื่อช่วยลดอาการซึมเศร้าโดยไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงเหมือนยาบางชนิด
แพทย์หญิงณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล จิตแพทย์โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมองหลายชนิด เช่น ซีโรโทนิน (serotonin) นอร์เอพิเนฟริน (norepinephrine) และโดปามีน (dopamine) ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเศร้าหมอง เบื่อหน่าย หมดความสนใจในสิ่งต่าง ๆ ในชีวิต รู้สึกสิ้นหวัง ไร้ค่า และอาจคิดฆ่าตัวตายได้
สาเหตุของโรคซึมเศร้าเกิดจากหลายปัจจัย เช่น พันธุกรรม,การเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง และเหตุการณ์ในชีวิตที่เครียดหรือกระทบกระเทือนจิตใจ เช่น การสูญเสีย การหย่าร้าง การถูกล่วงละเมิด เป็นต้น
ปัจจุบันโรคซึมเศร้ามีการรักษาหลายวิธี เช่น การรักษาด้วยยา, การทำจิตบำบัด และการรักษาด้วย dTMS หรือ Deep Transcranial Magnetic Stimulation คือการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไปกระตุ้นสมองในจุดที่มีผลต่อโรค เพื่อกระตุ้นทำให้เกิดกระเเสประสาท แล้วทำให้เกิดการหลั่งสารเคมีในสมอง ในการที่จะปรับสมดุลการทำงานของสมองให้เข้าสู่ภาวะปกติและลดการเกิดอาการซึมเศร้าลงได้ โดยการรักษาด้วย dTMS นี้ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ว่ามีความปลอดภัยเเละมีประโยชน์ช่วยในการรักษาโรคซึมเศร้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีผลข้างเคียงจากยา ไม่ตอบสนองต่อยา หรือรับประทานยาเกินหนึ่งปีแล้วแต่อาการไม่ดีขึ้น แต่ในปัจจุบันมีการนำ dTMS มาใช้ร่วมกับการรักษาด้วยการทำจิตบำบัดเเละการกินยาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพรักษาให้ดีขึ้นอีกด้วย
dTMS เป็นการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากระตุ้นบริเวณสมองส่วนหน้าในแต่ละครั้งจะกระตุ้นผ่านหมวกอุปกรณ์ที่ผู้ป่วยสวมใส่ที่ศีรษะโดยจะกระตุ้น 2 วินาที และเว้นพักเป็นระยะเวลา 20 วินาที จึงกระตุ้นซ้ำต่อเนื่องไป 20-30 นาที ผลการตอบสนองต่อการรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าขึ้นกับจำนวนครั้งสะสมของการกระตุ้น แต่มีข้อจำกัดในการกระตุ้นแต่ละวัน จึงจำเป็นต้องกระตุ้นต่อเนื่องอย่างน้อย 10-15 วัน หรือเว้นไม่เกิน 1 สัปดาห์ ทั้งนี้ก่อนรับการรักษาด้วย dTMS จิตแพทย์จะประเมินความเสี่ยงของผู้ป่วยทุกราย
จุดเด่นของ dTMS คือ
- ให้ผลการรักษาที่ดีกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีอาการรุนแรงและดื้อต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น
- ลดอาการด้านลบ ทำให้อาการซึมเศร้าดีขึ้น และวิตกกังวลลดลง
- เป็นการรักษาที่มีความปลอดภัย มีผลข้างเคียงจากการรักษาค่อนข้างน้อย
- เป็นวิธีการรักษาที่สามารถใช้ร่วมกับการรักษาวิธีอื่น เช่น การรักษาด้วยการกินยา หรือการรักษาโดยการทำจิตบำบัดได้
อย่างไรก็ตาม โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่สามารถรักษาหายได้ หากรู้ตัวเองเร็วแล้วรีบมารักษา ซึ่งการตรวจหาโรคในระยะเริ่มต้นเป็นส่งสำคัญมาก เบื้องต้นให้สังเกตอาการตัวเองและคนรอบข้างว่า มีอาการเข้าข่ายโรคซึมเศร้าหรือไม่ หากมีอาการเศร้านานกว่า 2 สัปดาห์ แนะนำให้ไปปรึกษาจิตแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที
แพทย์หญิงณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล
จิตแพทย์โรงพยาบาลBMHH- Bangkok Mental Health Hospital
บทความที่เกี่ยวข้อง
เข้าใจความเครียด รับมือได้ ไม่กระทบสุขภาพจิต
ความเครียดเป็นเรื่องที่หลายคนต้องเผชิญ การเรียนรู้วิธีจัดการความเครียดอย่างเหมาะสมจึงสำคัญ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจิตและชีวิตประจำวัน
รู้จักอาการ Toxic People คืออะไร เข้าใจพฤติกรรมคนเป็นพิษ
รู้ทันอาการ Toxic คืออะไร หนึ่งในพฤติกรรมของคนใกล้ตัวที่กลายเป็นพิษ ซึ่งอาจทำให้คุณรู้สึกอึดอัดใจ พร้อมแนะนำลักษณะ อาการ และวิธีรับมือที่เหมาะสม
ไม่สบายใจ เครียด อารมณ์แปรปรวน ปรึกษาจิตแพทย์ ช่วยได้
จิตใจของเรายัง “ไหว” อยู่ไหม ? หรือว่าแหลกสลายไปแล้ว… ใครที่มีอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป หรือแปรปรวน เช็กด่วน คุณอาจจะต้องพบจิตแพทย์
Talk to Doctor
Call Us
Line BMHH