ออทิสติก เป็นความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ที่ส่งผลต่อพัฒนาของเด็ก ทั้งในเรื่องของการสื่อสารและภาษา การเข้าสังคม และกิจกรรมอื่น ๆ ซึ่งหากสังเกตเห็นไว และพามารักษาก่อนอายุ 5 ปี สามารถช่วยกระตุ้นให้เด็กออทิสติกมีพัฒนาการที่สมวัย และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างคนทั่วไปเช่นเดียวกัน
รู้จัก “ออทิซึม” และสถานการณ์เด็กออทิสติกในไทย
อาการออทิซึม หรือ Autistic Spectrum Disorder คือ ความบกพร่องทางพัฒนาการ การเข้าสังคม การสื่อสารกับผู้อื่น รวมถึงมีพฤติกรรมซ้ำ ๆ และยึดติดกับพฤติกรรมเดิม ๆ ของตนเอง เช่น ต้องกินข้าวจานสีนี้ นั่งเก้าอี้ตัวนี้ หรือใช้ปากกาสีนี้ ในบางครั้งอาจจะมีพฤติกรรมหมกมุ่นกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างผิดปกติ โดยออทิสติกถูกจัดเป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ที่มักเริ่มมีอาการในช่วงปฐมวัย
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยออทิสติกประมาณ 300,000 คน แต่มีเพียง 3,000 คนเข้ารับการรักษาในระบบ ซึ่งในจำนวนนี้มีไม่ถึง 200 คนที่เป็นผู้มีรายได้ สามารถเลี้ยงตัวเองได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากพ่อแม่สังเกตเห็นอาการและพาเด็กออทิสติกมารักษาก่อนอายุ 5 ปี จะมีโอกาสเรียนและทำงานเหมือนกับคนทั่วไป ด้วยเหตุนี้ จึงควรสังเกตความผิดปกติในช่วงอายุ 2-3 ปี เพื่อที่จะได้นำมารักษาได้อย่างทันท่วงที
การสังเกตอาการเด็กออทิสติก
ผู้ปกครองสามารถเริ่มสังเกตอาการเด็กออทิสติกได้ตั้งแต่ช่วง 2 – 3 ปีแรก โดยมีความบกพร่องอย่างชัดเจนใน 2 เรื่อง คือ ความบกพร่องทางการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Social Communication and Social Interaction) และแบบแผนพฤติกรรมที่ทำซ้ำ ๆ หมกมุ่นในกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ (Restricted, Repetitive Patterns of Behavior, Interest or Activities) โดยมีอาการที่สังเกตเห็นได้ง่าย ดังนี้
ความบกพร่องทางการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
- พูดช้า หรือมีพัฒนาการทางภาษาที่ช้ากว่าปกติ
- พูดไม่ชัด ติด ๆ ขัด ๆ หรือพูดซ้ำ ๆ วนไปวนมา
- ไม่สามารถต่อบทความสนทนาได้อย่างต่อเนื่อง
- ไม่สามารถสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจความหมาย หรือมักพูดเป็นภาษาของตนเอง
- ชอบเล่นหรืออยู่คนเดียวมากกว่าอยู่กับเพื่อน ไม่มีเพื่อนสนิท
- เวลาพูด ไม่มองหน้าคู่สนทนา ไม่ชอบทักใครก่อน และไม่อยากให้ใครมาทัก
- ไม่แสดงอารมณ์ความรู้สึกทางสีหน้า
- ไม่บอกความต้องการของตนเอง
- ไม่สามารถปรับตัวในสังคมได้
- ทำตามคำสั่งหรือคำบอกง่าย ๆ ไม่ได้
- ไม่สามารถอ่านอารมณ์หรือความรู้สึกของผู้อื่นได้
แบบแผนพฤติกรรมที่สนใจหรือทำซ้ำ ๆ
- ชอบทำกิจกรรมเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ไม่ชอบทำกิจกรรมใหม่ ๆ เช่น หมุนตัวไปมา กระโดดอยู่ที่เดิม ๆ ซ้ำ ๆ
- หมกมุ่นอยู่กับสิ่งเดียว และยึดติดกับเรื่องเดิม ๆ หากว่าไม่ได้ตามที่ต้องการอาจจะมีอารมณ์หงุดหงิดหรือโมโหจนเกินพอดี
- สนใจรายละเอียดของสิ่งต่าง ๆ มากจนเกินไป
- ชอบการจัดเรียงสิ่งของให้เป็นระเบียบ หรือเรียงของเป็นแถวยาว ๆ
- หากไม่ชอบ หรือไม่อยากทำสิ่งใดจะมีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรุนแรง
เด็กออทิสติก ยิ่งรู้เร็ว และเข้ารับการรักษาได้เร็ว ยิ่งช่วยให้สามารถมีพัฒนาการตามช่วงวัย และใช้ชีวิตได้อย่างปกติได้ แต่ความท้าทายคือ จะต้องอาศัยคนรอบข้าง โดยเฉพาะครอบครัวและกลุ่มเพื่อนในการบำบัดและดูแลอย่างถูกวิธี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามากยิ่งขึ้น
โรคออทิสติกมีกี่ระดับ
ออทิสติกในเด็กมีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกันออกไป โดยทั่วไปจะแบ่งเป็น 3 ระดับตามอาการดังต่อไปนี้
- ระดับที่ 1 ต้องการการช่วยเหลือ (Requiring Support) เป็นกลุ่มที่ยังไม่ต้องการการช่วยเหลือมาก อาจมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร และต้องการความช่วยเหลือในเรื่องของการวางแผนอย่างเป็นระบบ
- ระดับที่ 2 ต้องการการช่วยเหลืออย่างมาก (Requiring Substantial Support) เป็นกลุ่มที่ไม่สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่น ไม่ตอบสนองต่อปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ชอบทำพฤติกรรมซ้ำ ๆ เดิม ๆ และมีปัญหามากขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่ไม่คุ้นเคย
- ระดับที่ 3 ต้องการการช่วยเหลือสูงมาก (Requiring Very Substantial Support) เป็นออทิสติกระดับรุนแรง มักมีปัญหาเรื่องการสื่อสารกับผู้อื่น ไม่ต้องการพูดคุย สบตา หรือข้องเกี่ยวกับใคร และเมื่อเจอกับสถานการณ์ใหม่ ๆ หรือมีการเปลี่ยนแปลงมักมีอาการก้าวร้าวรุนแรง
สาเหตุของโรคออทิสติก
ในทางการแพทย์ ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดของอาการเด็กออทิสติกได้ แต่จากการตรวจวินิจฉัยเด็กออทิสติก มักพบความผิดปกติของสมองและระบบประสาท ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม รวมถึงเกี่ยวพันถึงสิ่งแวดล้อมและโรคภัยไข้เจ็บ โดยสามารถแบ่งข้อสันนิษฐานของอาการเด็กออทิสติกได้ดังต่อไปนี้
- พันธุกรรม ครอบครัวที่มีผู้ที่เป็นออทิสติก มักพบว่าเด็กมีโอกาสเป็นออติสติกสูงกว่าคนทั่วไป
- สภาพแวดล้อม โดยระหว่างที่แม่ตั้งครรภ์ต้องเผชิญกับมลพิษ โรคภัยไข้เจ็บ การใช้ยาบางชนิด และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ทำให้สารเคมีในสมองขาดความสมดุล
ผลกระทบจากโรคออทิสติก
เด็กออทิสติกมักจะมีปัญหาเรื่องพัฒนาการ การสื่อสาร และการเข้าสังคม หากไม่รีบเข้ารับการบำบัดรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะส่งผลให้ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองหรือใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ต้องพึ่งพาคนอื่นอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้ ในช่วง 2 – 3 ปีแรก พ่อแม่จึงต้องสังเกตลูกอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบดังต่อไปนี้
- การเรียนรู้และพัฒนาการบกพร่องหรือช้ากว่าเด็กทั่วไป ที่เห็นได้ชัดคือ พัฒนาการทางภาษา อย่างเช่น การพูดช้า
- การสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เช่น ปลีกตัวออกจากเพื่อนหรือสังคม ไม่สามารถพูดคุยหรือต่อบทสนทนากับผู้อื่นได้ รวมถึงมีความเข้าใจที่แตกต่างจากเด็กทั่ว ๆ ไป
- พฤติกรรมหมกมุ่นและยึดติด มีความสนใจอยู่กับเรื่องเดิมเรื่องเดียว แต่มีความรู้สึกที่ยึดติด ไม่ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และหากมีสิ่งที่เปลี่ยนไปจากเดิมอาจจะแสดงความหงุดหงิดและฉุนเฉียวได้
- ชีวิตประจำวัน ต้องอาศัยผู้อื่นในการใช้ชีวิตประจำวัน อาจจะมีอารมณ์ฉุนเฉียวหรือโมโหร้าย เลือกเรียนรู้หรือทำเฉพาะสิ่งที่ตนเองสนใจเท่านั้น
แนวทางการดูแลเด็กออทิสติก
หากผู้ปกครองสังเกตว่าเด็กมีอาการผิดปกติ แนะนำให้รีบพามาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เพื่อบำบัดและรักษา ยิ่งได้รับการบำบัดเร็วเท่าไร ก็ยิ่งได้ผลดีมากขึ้นเท่านั้น เพื่อให้เด็กออทิสติกสามารถช่วยเหลือตัวเองและประกอบอาชีพได้ตามปกติในอนาคต
วิธีการรักษาอาการเด็กออทิสติก
- ยาบรรเทาอาการ โดยการใช้ยา เพื่อเป็นการบำบัดและแก้ปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าว หมกมุ่นอยู่กับสิ่งเดียว ไม่มีสมาธิ หรืออยู่นิ่งไม่ได้เท่านั้น แต่ยังไม่มียารักษาโรคออทิสติกโดยตรง
- การกระตุ้นพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ทั้งการกระตุ้นประสาทสัมผัสต่าง ๆ การให้เด็กหยิบจับสิ่งของ จะเป็นการกระตุ้นกล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่ รวมถึงฝึกให้หันตามเสียงเรียก และให้ทำกิจกรรมที่เสริมความมั่นใจมากยิ่งขึ้น
- การกระตุ้นการรับรู้อารมณ์และความรู้สึก ช่วยให้เด็กสามารถเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของผู้อื่นมากยิ่งขึ้น ผ่านการเล่นของเล่นที่เสริมพัฒนาการต่าง ๆ
- การปรับพฤติกรรม โดยครอบครัวและเพื่อน ๆ จะต้องมีส่วนในการให้กำลังใจ ชมเชยในพฤติกรรมที่พึงประสงค์ และเข้าช่วยเหลือเมื่อเด็กต้องการ
- การฟื้นฟูการพูดและการเข้าสังคม พาเด็กออทิสติกออกมาจากโลกส่วนตัวหรือความสนใจ เน้นการพูดคุย สร้างสมาธิ และทำตามที่สั่ง
- การส่งเสริมด้านวิชาการ โดยให้เด็กออทิสติกเรียนในหลักสูตรพิเศษ เพื่อให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ในการดูแลเด็กออทิสติก ครอบครัว ชุมชน และโรงเรียนมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น โดยต้องเข้าใจธรรมชาติ เลือกวิธีการสื่อสาร รวมถึงสนับสนุนและเข้าใจพฤติกรรมต่าง ๆ โดยให้พูดและสื่อสารที่ตรงประเด็น สามารถเข้าใจได้ง่าย รวมถึงการให้กำลังใจในการฝึกฝนทักษะต่าง ๆ ไม่ล้อเลียน หรือดุด่าว่ากล่าว ซึ่งจะทำให้เกิดผลลบมากกว่าผลดี
เด็กออทิสติกสามารถใช้ชีวิตและประกอบอาชีพเหมือนคนทั่วไปได้ หากพ่อแม่และผู้ปกครองสังเกตและพามาบำบัดรักษาตั้งแต่ก่อนอายุ 5 ปี หากไม่แน่ใจสามารถนัดพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด และวางแผนการรักษาอย่างถูกวิธีได้ที่ Bangkok Mental Health Hospital โรงพยาบาลจิตเวชในเครือโรงพยาบาลเวชธานี เรายินดีอยู่เคียงข้างในทุกสถานการณ์ เพื่อให้คุณสามารถผ่านทุกช่วงเวลาไปได้อย่างราบรื่น
สามารถนัดหมายล่วงหน้าได้ที่
โทรศัพท์: 02-589-1889
LINE Official Account: @bmhh
Location & Google Map: ติวานนท์ 39
Website: bangkokmentalhealthhospital.com
บทความที่เกี่ยวข้อง
โรคแกล้งป่วย เมื่อความเจ็บป่วยกลายเป็นการแสดง
การเจ็บป่วยเป็นเรื่องธรรมชาติที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ แต่ในบางกรณี ความเจ็บป่วยกลับถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อแสวงหาผลประโยชน์บางอย่าง
5 อาการ โรคหลายบุคลิก
บุคลิกภาพของแต่ละบุคคล อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติเพราะคนเรามักมีการปรับตัวเข้ากับสังคม
โรคชอบขโมย ไม่ใช่แค่ “ขโมย” แต่เป็น “โรค”
การลักเล็กขโมยน้อย เป็นพฤติกรรมที่ใครเจอก็ต้องส่ายหัว เพราะต้องคอยระแวงข้าวของของตัวเองอยู่ตลอดเวลา แต่ในทางจิตเวชมีอยู่ 1
Talk to Doctor
Call Us
Line BMHH