โรคแกล้งป่วย พฤติกรรมอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

Share
โรคแกล้งป่วย พฤติกรรมอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

โรคแกล้งป่วย (Factitious disorder)  เป็นโรคทางจิตชนิดหนึ่งที่ผู้ป่วยจะแสร้งทำว่าตัวเองหรือผู้อื่นมีความเจ็บป่วยทางร่างกายหรือทางจิตใจ ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ได้มีอาการป่วย โดยจะแสร้งทำเพื่อหวังผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งจากการอาการป่วยนี้ ไม่ว่าจะเป็น ทรัพย์สินเงินทอง ความรัก และความเห็นอกเห็นใจจากผู้อื่น ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้จากงานวิจัยพบร้อยละ0.8-1 ของผู้ป่วยทางกายที่ได้รับการปรึกษาจิตแพทย์ ในช่วงอายุ 20-40 ปี มีประวัติการทำงานด้านสาธารณสุข  มีประวัติว่างงาน ไม่มีญาติใกล้ชิด และพบโรคร่วมทางจิตเวช เช่น โรคความผิดปกติทางอารมณ์ โรคบุคลิกภาพแปรปรวน หรือติดสารเสพติด

สาเหตุของโรคเกิดจาก ผู้ป่วยอาจมีประวัติถูกทารุณกรรมหรือถูกละเลยในวัยเด็ก การเจ็บป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทำให้รู้สึกว่าช่วยให้หนีจากสถานการณ์เลวร้ายในบ้านได้  รวมทั้งได้รับการดูแลเอาใจใส่ที่ดีจากบุคลากรการแพทย์ บางคนเลียนแบบการป่วยจากบุคคลสำคัญในอดีต บางคนเป็นบุคลากรการแพทย์แล้วเลียนแบบอาการของผู้ป่วยที่ตัวเองรักษาอยู่

โรคแกล้งป่วยแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ แบบที่ทำตัวเอง และ แบบที่ทำผู้อื่น

แบบที่ทำตัวเอง

แบบที่ทำผู้อื่น

ลักษณะอาการแบ่งเป็น 4 กลุ่ม

  1. แกล้งเจ็บป่วยทางร่างกาย คือ ผู้ป่วยแสร้งแสดงอาการและแจ้งประวัติเท็จ เมื่อพบแพทย์จะแสดงอาการว่าป่วยและจำเป็นต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล หรือทำตัวเองให้มีอาการ เช่น อมน้ำร้อนแล้วมาวัดไข้เพื่อให้มีไข้ บางคนอาจเคยป่วยเป็นโรคนั้นจริงแล้วใช้โรคเดิมมาเป็นอาการนำ แสร้งทำเป็นมีอาการอื่น ๆ ตามมา
    เมื่อรับการรักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยมักเรียกร้องความสนใจ ขอยาบ่อย ๆ ขอให้มีการตรวจรักษาอย่างจริงจัง เช่น การผ่าตัด หากแพทย์ตรวจไม่พบอะไรจะไม่พอใจ เมื่อแพทย์มีท่าทีสงสัยว่าแสร้งทำ ผู้ป่วยจะไม่สมัครใจรักษาต่อและย้ายไปรักษาที่อื่นต่อไป
  2. แกล้งเจ็บป่วยเป็นโรคทางจิตเวช คือ ผู้ป่วยแสร้งแสดงอาการและแจ้งประวัติเท็จในด้านโรคทางจิตเวช เช่น หูแว่ว ซึมเศร้า สับสน หรือมีพฤติกรรมแปลก ๆ รักษาเต็มที่แล้วยังมีอาการอยู่ เช่น มาด้วยซึมเศร้าแล้วเล่าว่าญาติสนิทเสียชีวิต โดยให้รายละเอียดมีสีสันเหมือนในนิยาย ซึ่งฟังแล้วไม่น่าเป็นไปได้หรือขัดแย้งกันเอง เพื่อให้ได้รับความเห็นใจจากแพทย์
  3. ผู้ป่วยแสร้งแสดงอาการและแจ้งประวัติเท็จทั้งโรคทางกายและโรคทางจิต
  4. แกล้งทำความเจ็บป่วยให้แก่คนอื่น ซึ่งมักเป็นเด็กเล็ก อาจจะเป็นลูกหรือคนที่ผู้ป่วยดูแลอยู่ เพื่อให้ตัวเองได้รับการดูแลทางจิตใจด้วย เช่น แม่ปลอมปนเลือดในปัสสาวะให้ลูกเพื่อให้ลูกเข้าสู่การรักษา

สำหรับการรักษา ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่ยอมรับว่าตัวเองแกล้งป่วย จึงยากที่จะรักษาให้หายขาด เป้าหมายในการรักษาจึงเป็นการเลี่ยงที่จะให้ผู้ป่วยทำตัวเองให้เจ็บป่วยเพิ่มขึ้น ให้การรักษาทางจิตใจ การได้ประวัติและความร่วมมือจากญาติจะช่วยการวินิจฉัยและการรักษาได้

พญ.ณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล
จิตแพทย์โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital

บทความที่เกี่ยวข้อง

พฤศจิกายน 21, 2024
ก้าวข้ามผ่านความทุกข์ด้วยพลังของการบำบัด

ในสังคมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบและความกดดัน การรักษาสุขภาพจิตกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้การดูแลสุขภาพร่างกาย

พฤศจิกายน 17, 2024
GAD เมื่อความกังวลกลายเป็นปัญหา

ทุกคนย่อมมีความกังวลใจบ้างเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน แต่ความกังวลที่มากเกินไปและต่อเนื่องเป็นเวลานานจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

พฤศจิกายน 15, 2024
บาดแผลที่เกิดขึ้นในใจเด็ก อาจเสี่ยงเป็น PTSD

โรค PTSD หรือโรคเครียดหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ เป็นโรคจิตเวชที่สามารถเกิดได้กับทุกคนที่ประสบเหตุการณ์รุนแรงหรือเหตุการณ์สะเทือนใจมา

บทความเพิ่มเติม