โรคแกล้งป่วย เมื่อความเจ็บป่วยกลายเป็นการแสดง

Share

การเจ็บป่วยเป็นเรื่องธรรมชาติที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ แต่ในบางกรณี ความเจ็บป่วยกลับถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อแสวงหาผลประโยชน์บางอย่าง เช่น การเรียกร้องความสนใจหรือความเห็นอกเห็นใจจากผู้อื่น สิ่งนี้อาจนำไปสู่พฤติกรรม “แกล้งป่วย” ซึ่งจัดว่าเป็นโรคทางจิตเวชที่ผู้ป่วยจงใจสร้างอาการเจ็บป่วยขึ้นมาเอง ทั้งทางร่างกายและจิตใจ หากไม่ได้รับการดูแลหรือรักษาอย่างทันท่วงที พฤติกรรมดังกล่าวอาจก่อให้เกิดผลกระทบทั้งต่อตัวผู้ป่วยเองและคนรอบข้าง

แพทย์หญิงณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล จิตแพทย์โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า โรคแกล้งป่วย (Factitious disorder)  เป็นโรคทางจิตชนิดหนึ่งที่ผู้ป่วยจะแสร้งทำว่าตัวเองหรือผู้อื่นมีความเจ็บป่วยทางร่างกายหรือทางจิตใจ ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ได้มีอาการป่วย โดยจะแสร้งทำเพื่อหวังผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งจากการอาการป่วยนี้ ไม่ว่าจะเป็น ทรัพย์สินเงินทอง ความรัก และความเห็นอกเห็นใจจากผู้อื่น 

อาการของโรคแกล้งป่วยแบ่งเป็น 4 กลุ่มดังนี้ 

  1. แกล้งเจ็บป่วยทางร่างกาย คือ ผู้ป่วยแสร้งแสดงอาการและแจ้งประวัติเท็จ เมื่อพบแพทย์จะแสดงอาการว่าป่วยและจำเป็นต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล หรือทำตัวเองให้มีอาการ เช่น อมน้ำร้อนแล้วมาวัดไข้เพื่อให้มีไข้ บางคนอาจเคยป่วยเป็นโรคนั้นจริงแล้วใช้โรคเดิมมาเป็นอาการนำ แสร้งทำเป็นมีอาการอื่น ๆ ตามมา  
  2. แกล้งเจ็บป่วยเป็นโรคทางจิตเวช คือ ผู้ป่วยแสร้งแสดงอาการและแจ้งประวัติเท็จในด้านโรคทางจิตเวช เช่น หูแว่ว ซึมเศร้า สับสน หรือมีพฤติกรรมแปลก ๆ รักษาเต็มที่แล้วยังมีอาการอยู่ เช่น มาด้วยซึมเศร้าแล้วเล่าว่าญาติสนิทเสียชีวิต โดยให้รายละเอียดมีสีสันเหมือนในนิยาย ซึ่งฟังแล้วไม่น่าเป็นไปได้หรือขัดแย้งกันเอง เพื่อให้ได้รับความเห็นใจจากแพทย์
  3. ผู้ป่วยแสร้งแสดงอาการและแจ้งประวัติเท็จทั้งโรคทางกายและโรคทางจิต
  4. แกล้งทำความเจ็บป่วยให้แก่คนอื่น ซึ่งมักเป็นเด็กเล็ก อาจจะเป็นลูกหรือคนที่ผู้ป่วยดูแลอยู่ เพื่อให้ตัวเองได้รับการดูแลทางจิตใจด้วย เช่น แม่ปลอมปนเลือดในปัสสาวะให้ลูกเพื่อให้ลูกเข้าสู่การรักษา

สาเหตุของโรคแกล้งป่วยเกิดจาก ผู้ป่วยอาจมีประวัติถูกทารุณกรรมหรือถูกละเลยในวัยเด็ก และความผิดปกติทางจิตเวชร่วม เช่นโรคซึมเศร้า โรคความผิดปกติทางอารมณ์ โรคบุคลิกภาพแปรปรวน หรือติดสารเสพติด

การรักษาโรคแกล้งป่วยเป็นสิ่งที่ท้าทาย เนื่องจากผู้ป่วยมักจะไม่ยอมรับว่าตนเองป่วย ซึ่งการรักษาจะเน้นไปที่การบำบัดทางจิตวิทยา เช่น การบำบัดพฤติกรรมทางความคิด (Cognitive Behavioral Therapy: CBT)  เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงสาเหตุของพฤติกรรมและจัดการกับอารมณ์ที่ซับซ้อน

อย่างไรก็ตาม โรคแกล้งป่วยเป็นภาวะทางจิตที่ซับซ้อน ซึ่งการเข้าใจโรคนี้จะช่วยให้เราสามารถสนับสนุนผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ หากสังเกตอาการตนเองหรือคนใกล้ชิด มีอาการเข้าข่ายโรคแกล้งป่วย ควรเข้ามาปรึกษาจิตแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม

แพทย์หญิงณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล 
จิตแพทย์โรงพยาบาลBMHH- Bangkok Mental Health Hospital

บทความที่เกี่ยวข้อง

ธันวาคม 19, 2024
Midlife crisis วิกฤตวัยกลางคน โอกาสทองในการสร้างชีวิตใหม่

Midlife Crisis หรือที่เรียกในภาษาไทยว่า "วิกฤตวัยกลางคน" เป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม ที่มักเกิดขึ้นในวัยกลางคน

ธันวาคม 16, 2024
ป้องกัน Burnout ก่อนที่จะหมดไฟ

ภาวะ Burnout หรือภาวะหมดไฟในการทำงานนั้น ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตได้อย่างมาก เพราะไม่ใช่แค่ความเหนื่อยล้าธรรมดา

ธันวาคม 13, 2024
6 วิธีรับมือกับคน Toxic

การต้องเผชิญหน้ากับคน Toxic หรือคนที่สร้างความเป็นพิษให้กับชีวิตนั้นเป็นเรื่องที่น่าเหนื่อยใจ การปล่อยให้ความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้นเรื่อย ๆ

บทความเพิ่มเติม