กลัวการปฏิเสธ อยากให้ทุกคนรัก  จุดเริ่มต้นของการเป็น “People Pleaser”

Share

หากคุณเป็นคนที่มักตอบรับทุกคำขอ ชอบเอาใจใส่คนอื่นเป็นพิเศษ หรือพยายามทำให้ทุกคนพึงพอใจแม้ต้องเสียสละความสุขของตัวเอง พฤติกรรมเหล่านี้อาจสะท้อนถึงลักษณะของ People Pleaser หรือบุคคลที่มักทำทุกวิถีทางเพื่อให้คนรอบข้างพอใจ โดยละเลยความต้องการและความรู้สึกของตัวเอง แม้สิ่งนี้อาจดูเหมือนช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในระยะสั้น แต่หากปล่อยให้เกิดขึ้นเรื่อยๆ อาจนำไปสู่ปัญหาร้ายแรง เช่น การสูญเสียตัวตน หรือแม้กระทั่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า

แพทย์หญิงวิชญ์วรี ธีร์ธัญสิริ จิตแพทย์โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า People Pleaser หมายถึงบุคคลที่มีลักษณะนิสัยชอบทำให้คนรอบข้างพอใจ โดยมักยอมทำตามความต้องการของผู้อื่นเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งหรือเพื่อให้ตัวเองรู้สึกได้รับการยอมรับ คนประเภทนี้มักมีความเกรงใจสูงและกลัวว่าจะทำให้ผู้อื่นผิดหวัง

สัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณกำลังเป็น People Pleaser

สาเหตุของการเป็น People Pleaser มักเกิดจากประสบการณ์ในวัยเด็ก หลายคนเติบโตมาในครอบครัวที่เข้มงวดซึ่งต้องทำตามความต้องการของผู้ใหญ่เสมอ บางคนอาจเคยผ่านประสบการณ์ถูกปฏิเสธหรือถูกทอดทิ้ง จนเกิดความกลัวว่าจะถูกทิ้งอีก หรือบางคนอาจได้รับการชื่นชมเฉพาะเวลาที่ทำตามใจคนอื่น จึงทำให้เติบโตมาพร้อมกับความเชื่อว่าต้องทำให้คนอื่นพอใจจึงจะมีคุณค่า

ผลเสียต่อสุขภาพจิตของการเป็น People Pleaser คือ จะรู้สึกเหนื่อยล้า เกิดความเครียด และวิตกกังวล เนื่องจากพยายามทำให้คนอื่นมีความสุข และตามใจคนอื่นมากเกินไปจนบั่นทอนความรู้สึกและความต้องการของตัวเอง หากปล่อยไว้อาจนำไปสู่ภาวะหมดไฟ (Burnout) เครียดเรื้อรัง ซึมเศร้า และสูญเสียความเป็นตัวเอง

แม้ว่าการดีต่อผู้อื่นเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง แต่การดูแลตัวเองก็สำคัญไม่แพ้กัน การเป็น People Pleaser อาจทำให้คุณรู้สึกดีในช่วงแรก แต่ในระยะยาวจะส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและใจของคุณ การเรียนรู้ที่จะรักและเคารพตัวเอง จะช่วยให้คุณมีชีวิตที่มีความสุขและสมดุลมากขึ้น

การหยุดเป็น People Pleaser สามารถแก้ไขได้โดยการเห็นคุณค่าของตัวเอง และการฝึกปฏิเสธ อาจเริ่มจากการฝึกปฎิเสธจากเรื่องเล็กๆ โดยไม่ต้องรู้สึกผิด เรียนรู้ขีดจำกัดของตัวเอง  โดยการตั้งขอบเขตที่ชัดเจนว่าอะไรทำได้หรือทำไม่ได้ รวมไปถึงต้องเรียนรู้ที่จะรักตัวเอง และรู้ความต้องการของตัวเอง อย่าลืมว่าการดูแลตัวเองให้มีความสุขเป็นความรับผิดชอบของคุณเช่นกัน และไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด แต่ถ้ารู้สึกว่าไม่สามารถจัดการปัญหาได้ ควรมาปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสม

แพทย์หญิงวิชญ์วรี ธีร์ธัญสิริ
จิตแพทย์โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital

บทความที่เกี่ยวข้อง

ธันวาคม 26, 2024
นอนไม่หลับ นับแกะช่วยได้จริงหรือ?

อาการนอนไม่หลับเรื้อรัง เป็นปัญหาในการนอนหลับที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะในวัยทำงานขึ้นไป โดยอาจมีอาการหลับยาก ตื่นกลางดึกบ่อย

ธันวาคม 25, 2024
เมื่อคนใกล้ตัวเป็นซึมเศร้า ความเข้าใจคือยาที่ดีที่สุด

การมีคนใกล้ตัวเป็นโรคซึมเศร้าเป็นเรื่องที่ท้าทายและต้องการความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง การรับมืออย่างเหมาะสม นอกจากจะช่วยให้ผู้ป่วย

ธันวาคม 23, 2024
Social Detox  เพื่อชีวิตที่สมดุล

คนทั่วโลกใช้เวลาบนโซเชียลมีเดียเฉลี่ยประมาณ 2-3 ชั่วโมงต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า

บทความเพิ่มเติม