การเรียนรู้บกพร่อง รักษาได้ ถ้าเข้าใจ

Share
การเรียนรู้บกพร่อง

หนึ่งในปัญหาที่ผู้ปกครองที่มีลูกอยู่ในวัยเรียนมักพบบ่อย คือ ลูกเรียนไม่ทันเพื่อน ผลการเรียนของลูกไม่ดี หรือมีการสอบตกในบางวิชา สถานการณ์เหล่านี้อาจบ่งบอกถึงความเสี่ยงของการเป็นโรค Learning Disorder หรือ Learning Disabilities หรือโรค LD  ซึ่งจากสถิติสามารถพบเด็ก LD ได้มากถึง 5% ของนักเรียนชั้นประถมศึกษา ขณะเดียวกันกลับพบว่ามีเด็ก LD ส่วนน้อยที่ได้เข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม

รองศาสตราจารย์นายแพทย์มนัท สูงประสิทธิ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นเฉพาะทางด้าน Learning Disorder หรือ Learning Disabilities โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า โรค Learning Disorder หรือ Learning Disabilities: LD หรือโรคบกพร่องทางการเรียนรู้ หมายถึง ทักษะในการเรียนรู้ของเด็กมีพัฒนาการที่ล่าช้าในด้านใดด้านหนึ่ง หรือหลายด้านพร้อม ๆ กัน สาเหตุการเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง จึงส่งผลต่อกระบวนการเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ  และมักพบร่วมกับโรคอื่น ๆ เช่น โรคสมาธิสั้น โรคออทิสติก โรควิตกกังวล เป็นต้น

ความบกพร่องทางการเรียนรู้ แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่

  1. ความบกพร่องในด้านการอ่าน เป็นประเภทที่พบบ่อยที่สุด เด็กจะไม่สามารถอ่านได้อย่างที่ควรจะเป็น เนื่องจากสมองมีความบกพร่องในการแยกแยะเสียง พยัญชนะ วรรณยุกต์ สระ เด็กกลุ่มนี้มักจะอ่านจากความจำ เพราะฉะนั้นจึงอ่านผิดอ่านถูก เนื่องจากต้องเดาคำที่ไม่ค่อยได้เห็น ผลที่ตามมาคือไม่สามารถจับใจความหรือสรุปความจากการอ่านได้
  2. ความบกพร่องในด้านการเขียน เด็กกลุ่มนี้จะมีปัญหาในเรื่องการสะกดคำ ทำให้ไม่สามารถเขียนหนังสือได้ ลายมือจะอ่านยาก นึกคำศัพท์ที่จะเขียนไม่ได้ ผลที่ตามมาคือไม่สามารถเขียนในสิ่งที่ต้องการจะสื่อได้พร้อม ๆ กันโดยไม่เหมาะสมกับระดับสติปัญญาที่ดีและการศึกษาที่ได้รับ
  3. ความบกพร่องในด้านการคำนวณ เด็กกลุ่มนี้จะมีข้อจำกัดในด้านทักษะที่เกี่ยวกับตัวเลข การคิดคำนวณ สามารถนับเลขได้ แต่ไม่เข้าใจการคำนวณ ผลที่ตามมาคือมีความยากลำบากในการเปรียบเทียบจำนวนมากหรือน้อย และไม่สามารถบวก ลบ คูณ หารได้

Learning Disorder หรือ Learning Disabilities หรือ LD เป็นโรคที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ และควรได้รับการวางแผนการเรียนเป็นรายบุคคล ยิ่งได้รับความช่วยเหลือเร็วเท่าไหร่ ยิ่งเป็นผลดีต่อตัวเด็กมากเท่านั้น โดยอาการที่ผู้ปกครองควรสังเกต ได้แก่ ลูกมีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการอ่าน เขียน หรือคิดเลข ไม่มีสมาธิในการเรียน มีอารมณ์หุนหันพลันแล่น ไม่มั่นใจในตัวเอง หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย รักษาและให้ความช่วยเหลือก่อนที่จะสายเกินไป

สิ่งสำคัญของการรักษาโรค Learning Disorder หรือ Learning Disabilities คือทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ทั้งผู้ปกครอง โรงเรียน และตัวเด็กเอง โดยผู้ปกครองและครูจำเป็นต้องเปิดใจและเข้าใจพื้นฐานของตัวโรค ไม่โทษว่าเป็นเพราะเด็กขี้เกียจ ไม่สนใจเรียน หรือเป็นเด็กเกเร ในขณะที่ตัวเด็กจำเป็นต้องได้รับการประเมินความรุนแรงของโรคก่อน จากนั้นทีมแพทย์และสหสาขาวิชาชีพเฉพาะทางด้าน Learning Disorder หรือ Learning Disabilities จะช่วยกันปรับการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับเด็ก หลักการคือสอนในเรื่องที่เด็กบกพร่องซ้ำ ๆ และสร้างบรรยากาศการเรียนให้สนุก เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ และในระหว่างนี้จะช่วยค้นหาความสามารถพิเศษของเด็กร่วมด้วย โดยทุกฝ่ายต้องช่วยให้เด็กมีความเชื่อมั่นว่าตัวเขาสามารถทำได้

“เป้าหมายของการรักษาโรคนี้ คือการลดความเครียดของเด็กลง และช่วยให้เด็กสามารถเรียนทันเพื่อนในเวลาที่เหมาะสม เพราะเด็กที่ได้รับการช่วยเหลือทุกคนสามารถเรียนทันเพื่อนได้ อย่างไรก็ตาม หากเด็กไม่ได้รับความช่วยเหลืออาจนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าได้ เพราะตัวเขาเองจะรู้สึกไร้ค่าและขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง” รองศาสตราจารย์นายแพทย์มนัทกล่าว

รองศาสตราจารย์นายแพทย์มนัท สูงประสิทธิ์
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นเฉพาะทางด้าน LD โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital

บทความที่เกี่ยวข้อง

ธันวาคม 23, 2024
Social Detox  เพื่อชีวิตที่สมดุล

คนทั่วโลกใช้เวลาบนโซเชียลมีเดียเฉลี่ยประมาณ 2-3 ชั่วโมงต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า

ธันวาคม 23, 2024
เช็กสัญญาณซึมเศร้าหลังคลอดที่คุณแม่ควรรู้

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเป็นเรื่องปกติที่พบได้บ่อยในคุณแม่หลังคลอด ประมาณ 1 ใน 7 ของคุณแม่จะประสบกับภาวะนี้ มักเกิดขึ้นภายใน 2 สัปดาห์แรกหลังคลอด

ธันวาคม 23, 2024
เมื่อใจต้องเผชิญกับความสูญเสีย ดูแลใจอย่างไรให้กลับมาแข็งแรง

การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักเป็นเรื่องที่ทุกคนอาจต้องเผชิญในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต ความรู้สึกเศร้าและอ้างว้างที่เกิดขึ้นสามารถสร้างความท้าทาย

บทความเพิ่มเติม