Midlife Crisis หรือที่เรียกในภาษาไทยว่า “วิกฤตวัยกลางคน” เป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม ที่มักเกิดขึ้นในวัยกลางคนช่วงอายุประมาณ 40-60 ปี ซึ่งอาจส่งผลกระทบทั้งในแง่จิตวิทยาและสุขภาพจิต
นายแพทย์ธนวัฒน์ ขุราษี จิตแพทย์ โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital อธิบายว่า Midlife Crisis มักเกิดกับคนที่อยู่ในวัย 40 – 60 ปี เนื่องจากในช่วงวัยนี้จะเข้าสู่วัยทองที่ฮอร์โมนหลายอย่างเลิกผลิต ทำให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และแน่นอนว่าจะส่งผลต่อสภาวะจิตใจที่ไม่ปกติ นอกจากนี้ในช่วงอายุดังกล่าวยังเป็นช่วงเวลาที่หลายคนเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิตที่ผ่านมาทั้งความสำเร็จ ความล้มเหลว และเป้าหมายในอนาคต โดยมักเกิดขึ้นเมื่อคนเราต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสำคัญในชีวิต เช่น การเปลี่ยนแปลงทางอาชีพ การสูญเสียคนใกล้ชิด สุขภาพที่เริ่มถดถอย หรือการเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์
ลักษณะอาการของ Midlife Crisis อาจแสดงออกแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยมีหลากหลายรูปแบบ ได้แก่
- ความรู้สึกทางอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลง เช่น มีความรู้สึกไม่พึงพอใจในชีวิต, มีความวิตกกังวลหรือความเครียด, หรือมีอารมณ์เศร้าหรือซึมเศร้า รู้สึกสิ้นหวัง ท้อแท้ หรือไม่มีความสุขในสิ่งที่เคยชื่นชอบ
- การเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรม เช่น มีการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ แบบฉับพลันหรือไม่คาดคิด เช่น เปลี่ยนงาน ซื้อของฟุ่มเฟือย หรือแม้กระทั่งตัดสินใจหย่าร้าง, มีความพยายามที่แสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ, และมักหลีกหนีจากความรับผิดชอบ
- ความเปลี่ยนแปลงในความคิดและมุมมองชีวิต เช่น ตั้งคำถามเกี่ยวกับคุณค่าในชีวิต, เริ่มคิดถึงอดีตบ่อยครั้ง, กลัวการแก่ตัวและความตาย
- ผลกระทบต่อความสัมพันธ์ มีความขัดแย้งในครอบครัว หรืออาจจะมองหาความสัมพันธ์ใหม่ๆ ที่ดูน่าตื่นเต้นกว่า
- การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและสุขภาพ หลายคนอาจจะมีอาการเหนื่อยล้าง่ายขึ้น อาจมีปัญหาการนอน ในขณะที่บางคนเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ภายนอก เพราะน้ำหนักขึค้น ผอมลง
ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิด Midlife Crisis คือการเปลี่ยนแปลงในชีวิตและความตระหนักถึงเวลาที่เหลืออยู่ในชีวิต บางครั้งอาจเกิดจากการรับรู้ถึงความไม่สมดุลระหว่าง “ความคาดหวังในชีวิต” และ “ความเป็นจริงในปัจจุบัน” หากมีการรับมือได้ไม่ดีพอ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต หรืออาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า ความวิตกกังวล หรือมีการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมบางอย่าง เช่น ใช้จ่ายเกินตัว ดื่มสุรา หรือใช้สารเสพติด
อย่างไรก็ตาม ทุกคนสามารถรับมือกับ Midlife Crisis ได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง เช่น รับรู้ความคิดความรู้สึกที่เกิดขึ้นโดยไม่ตัดสินหรือต่อว่าตัวเอง รู้ทันพฤติกรรมใหม่ ยอมรับและเข้าใจความเปลี่ยนแปลง ตั้งเป้าหมายใหม่ที่สอดคล้องกับความเป็นจริงในปัจจุบัน หมั่นดูแลสุขภาพกายและใจอย่างสม่ำเสมอ เติมเต็มจิตใจตัวเองด้วยการให้ความสำคัญกับการสะสมความทรงจำดีๆ ไม่ว่าจะมากหรือน้อยในแต่ละวัน พักผ่อนให้เพียงพอไม่อดนอน หากคิดว่าจะยุติความสัมพันธ์ไม่ควรตัดสินใจตอนโกรธหรือเร่งรีบ ให้ใช้เวลาไตร่ตรองให้ดีก่อน หรือแต่หากเริ่มรู้สึกว่าสถานการณ์เริ่มควบคุมไม่ได้ การพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาจะช่วยให้เข้าใจและจัดการกับปัญหาได้ดียิ่งขึ้น
แม้ Midlife Crisis จะฟังดูเหมือนเป็นเรื่องที่น่ากังวล แต่ในอีกมุมหนึ่ง มันอาจเป็นโอกาสในการรีเซ็ตชีวิตและค้นพบตัวตนใหม่ หลายคนที่ผ่านช่วงเวลานี้ได้สำเร็จกลับพบว่า ชีวิตมีความหมายและเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้น
นายแพทย์ธนวัฒน์ ขุราษี จิตแพทย์
โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital
บทความที่เกี่ยวข้อง
เข้าใจความเครียด รับมือได้ ไม่กระทบสุขภาพจิต
ความเครียดเป็นเรื่องที่หลายคนต้องเผชิญ การเรียนรู้วิธีจัดการความเครียดอย่างเหมาะสมจึงสำคัญ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจิตและชีวิตประจำวัน
รู้จักอาการ Toxic People คืออะไร เข้าใจพฤติกรรมคนเป็นพิษ
รู้ทันอาการ Toxic คืออะไร หนึ่งในพฤติกรรมของคนใกล้ตัวที่กลายเป็นพิษ ซึ่งอาจทำให้คุณรู้สึกอึดอัดใจ พร้อมแนะนำลักษณะ อาการ และวิธีรับมือที่เหมาะสม
ไม่สบายใจ เครียด อารมณ์แปรปรวน ปรึกษาจิตแพทย์ ช่วยได้
จิตใจของเรายัง “ไหว” อยู่ไหม ? หรือว่าแหลกสลายไปแล้ว… ใครที่มีอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป หรือแปรปรวน เช็กด่วน คุณอาจจะต้องพบจิตแพทย์
Talk to Doctor
Call Us
Line BMHH