พฤติกรรมชอบทำอะไรซ้ำๆ เช่น ล้างมือซ้ำๆ, ตรวจสอบประตูซ้ำๆ มีความคิดหมกมุ่นที่ควบคุมไม่ได้เกิดขึ้นซ้ำๆ อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคย้ำคิดย้ำทำ ถึงแม้ว่าอาการเหล่านี้จะไม่รุนแรงถึงชีวิต แต่ก็สามารถส่งผลกระทบอย่างมากในการใช้ชีวิตประจำวันและความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
นายแพทย์ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์ จิตแพทย์ โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder) เป็นโรคทางจิตเวชที่สามารถพบได้ทั้งผู้ใหญ่ และเด็ก โดยพบได้ประมาณ 1.2% ของประชากร ซึ่งผู้ป่วยจะมีความกังวลหรือความสงสัย ไม่มั่นใจต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และพยายามแก้ไขความกังวล ความสงสัยนั้น ด้วยการทำกิจกรรมบางอย่างซ้ำไปซ้ำมา
โรคย้ำคิดย้ำทำมี 2 องค์ประกอบ
- อาการย้ำคิด (Obsession) คือ มีความคิดหมกมุ่นที่ควบคุมไม่ได้ เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ไม่สามารถหยุดคิดได้ ถึงแม้ว่าตัวเองจะรู้ว่าความคิดนั้นจะไม่สมเหตุสมผล ก่อให้เกิดความวิตกกังวลเกินจริง เช่น กลัวเชื้อโรค, หมกหมุ่นกับความเป็นระเบียบ, กลัวสิ่งไม่ดีจะเกิดขึ้นกับตัวเอง เป็นต้น
- อาการย้ำทำ (Compulsion) คือ การทำพฤติกรรมต่าง ๆ หรือ การคิดในทางตรงข้าม เพื่อพยายามลดความวิตกกังวลจากการย้ำคิด เช่น ล้างมือซ้ำ ๆ, ตรวจสอบประตูซ้ำ ๆ, ตรวจสอบปลั๊กไฟ หรือ เตาอบซ้ำ ๆ
อาการย้ำคิด-ย้ำทำ อาจพบร่วมกับความผิดปกติเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวอื่น ๆ เช่น ขยิบตาบ่อย ๆ ยักไหล่ กระตุกศีรษะหรือไหล่ หรือส่งเสียงผิดปกติ เช่น กระแอม คำราม หรือ พูดคำหยาบโดยควบคุมไม่ได้
ปัจจัยเสี่ยงของโรคย้ำคิดย้ำทำ
- มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
- อายุ อาการของโรคย้ำคิดย้ำทำ มักเริ่มเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่น หรือ ช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น
- พันธุกรรม ผู้ที่มีญาติสายตรงเป็นโรคนี้จะมีความเสี่ยงสูงขึ้น โดยยิ่งถ้าญาติสายตรงเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำตั้งแต่เด็ก หรือ วัยรุ่น ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น
- สิ่งแวดล้อม เช่น หากได้รับการกระทบกระเทือนทางจิตใจในวัยเด็ก ก็อาจเป็นปัจจัยส่งผลให้เกิดอาการย้ำคิดย้ำทำได้
- ช่วงตั้งครรภ์ และระยะหลังคลอด จะพบอุบัติการณ์ของโรคย้ำคิดย้ำทำได้มากขึ้น โดยอาการมักเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของลูก หรือการวิตกกังวลว่าตัวเองจะดูแลลูกไม่ดีพอ
สำหรับการรักษาโรคย้ำคิดย้ำทำ ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือ การใช้ยา ร่วมกับ การทำจิตบำบัด โดยยากลุ่มหลักที่ใช้ในการรักษาโรคนี้คือ Serotonin selective reuptake inhibitors (SSRIs) ซึ่งจะช่วยปรับระดับของสารสื่อประสาท Serotonin ในสมองให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ส่วนการจิตบำบัดนั้น จะเน้นไปที่การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy หรือ CBT) ผ่านเทคนิค Exposure and Response Prevention (ERP) โดยมีจุดมุ่งหมายคือการพยายามให้ผู้ป่วยหลุดพ้นวงจรย้ำคิด-ย้ำทำ ผ่านการพยายามยับยั้งการทำพฤติกรรมย้ำทำ เมื่อได้รับการกระตุ้น ซึ่งความร่วมมือกันระหว่างผู้ป่วย และทีมการรักษา เป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในการรักษา
นายแพทย์ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์
จิตแพทย์ โรงพยาบาลBMHH – Bangkok Mental Health Hospital
บทความที่เกี่ยวข้อง
Social Detox เพื่อชีวิตที่สมดุล
คนทั่วโลกใช้เวลาบนโซเชียลมีเดียเฉลี่ยประมาณ 2-3 ชั่วโมงต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า
เช็กสัญญาณซึมเศร้าหลังคลอดที่คุณแม่ควรรู้
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเป็นเรื่องปกติที่พบได้บ่อยในคุณแม่หลังคลอด ประมาณ 1 ใน 7 ของคุณแม่จะประสบกับภาวะนี้ มักเกิดขึ้นภายใน 2 สัปดาห์แรกหลังคลอด
เมื่อใจต้องเผชิญกับความสูญเสีย ดูแลใจอย่างไรให้กลับมาแข็งแรง
การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักเป็นเรื่องที่ทุกคนอาจต้องเผชิญในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต ความรู้สึกเศร้าและอ้างว้างที่เกิดขึ้นสามารถสร้างความท้าทาย
Talk to Doctor
Call Us
Line BMHH