เรียนรู้อย่างเข้าใจ จัดการ ‘ความกังวล’ ได้ง่ายกว่าที่คิด

Share
ผู้หญิงเป็นโรควิตกกังวลและมีอาการนอนไม่หลับ

สุขภาพใจ มีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินชีวิตไม่แพ้สุขภาพกาย เคยไหม ที่หวาดกลัวกับสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้า รู้สึกใจสั่น กระสับกระส่าย ไม่สามารถรับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างที่ควรจะเป็น สร้างความหวาดหวั่น วิตก และคิดมาก จนกระทบกับการทำงานและการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง หากมีอาการเหล่านี้ คุณอาจเสี่ยงเป็น ‘โรควิตกกังวล’ อยู่ก็เป็นได้

ถ้าคุณกำลังเผชิญกับอาการที่กล่าวไปข้างต้น บทความนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจความกังวล อาการ สาเหตุ และผลกระทบของโรคได้มากขึ้น นำไปสู่วิธีแก้อาการวิตกกังวลอย่างมีประสิทธิภาพ

โรควิตกกังวลคืออะไร ?

ความกังวล เป็นหนึ่งในอารมณ์ที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย หรือมีเรื่องสำคัญให้ต้องใช้ความคิด เช่น รอผลการสัมภาษณ์งาน รอผลสอบ หรือรอผลการตรวจรักษาโรค เป็นภาวะที่เรารู้สึกกระวนกระวายใจ เครียด และว้าเหว่ แม้ว่าสถานการณ์นั้นจะยังไม่เกิดขึ้นก็ตาม ถือเป็นเรื่องปกติที่ใคร ๆ ก็เป็นได้ แต่หากเกิดอารมณ์นี้อยู่ตลอดเวลา รวมทั้งมีอาการอื่น ๆ ทางร่างกายร่วมด้วย คุณอาจเป็นโรควิตกกังวลแบบไม่รู้ตัว

โรควิตกกังวล หรือ Anxiety Disorder คือ โรคทางจิตเวชประเภทหนึ่ง เป็นภาวะที่สารเคมีในสมอง เช่น เซโรโทนิน, โดพามีน และนอร์เอพิเนฟริน ขาดความสมดุล เกิดการเปลี่ยนแปลง ร่วมกับความกดดันจากปัจจัยอื่น ๆ จึงไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ตามปกติ เรียกว่าเป็นโรคคิดมากก็ว่าได้ หากไม่เร่งหาแนวทางการรับมืออย่างถูกวิธี จะส่งผลเสียต่อการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างแน่นอน

อาการของโรควิตกกังวล

โรควิตกกังวลแสดงออกทางอาการได้ 3 กลุ่มด้วยกัน ดังนี้

  1. อาการทางร่างกาย

    อาการวิตกกังวลจะส่งผลถึงระบบประสาทอัตโนมัติ ทำให้ร่างกายเกิดความเปลี่ยนแปลงและมีอาการผิดปกติแบบไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ใจสั่น ใจเต้นเร็ว เหงื่อออก มือเท้าเย็น เจ็บหน้าอก กล้ามเนื้อตึง ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ท้องอืด คลื่นไส้ ชาบริเวณปลายมือและปลายเท้า รวมถึงมีประจำเดือนมาผิดปกติในผู้หญิงด้วย

  2. อาการทางความคิด

    ผู้ป่วยโรคนี้มักมีความหมกมุ่นอยู่ในเรื่องเดิม ๆ คิดมาก ฟุ้งซ่าน กระวนกระวายใจกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ขี้หลงขี้ลืม ไม่มีสมาธิ เกิดความสับสน ความสามารถในการตัดสินใจและการรับรู้ลดลง

  3. อาการทางพฤติกรรม

    สุดท้ายเป็นอาการที่แสดงออกทางพฤติกรรม ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านการนอนไม่หลับ ตื่นกลางดึก ทำให้รู้สึกว่าพักผ่อนไม่เพียงพอและเหนื่อยล้า แสดงสีหน้าที่ดูวิตก หน้านิ่วคิ้วขมวด กำมือแน่น พูดไม่รู้เรื่องหรือพูดวนไปวนมา และเริ่มหลบหน้าจากผู้คน โดยเฉพาะคนที่เป็นสาเหตุให้เกิดความกังวล

ผู้หญิงเป็นโรควิตกกังวลและมีอาการนอนไม่หลับ

สาเหตุที่ก่อให้เกิดโรควิตกกังวล

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า โรคนี้เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ร่วมกับปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่

  • ความเครียดจากการเรียน การทำงาน หรือสถานการณ์อื่นที่กำลังเผชิญอยู่ ก่อให้เกิดความเครียดสะสมและทำให้เกิดโรค
  • ปัญหาชีวิต ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง ปัญหาด้านการเงิน ปัญหาในที่ทำงาน หรือปัญหาอื่น ๆ
  • สภาพแวดล้อม เช่น การเลี้ยงดู การเลียนแบบพฤติกรรมของพ่อแม่หรือคนใกล้ชิด
  • เหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ เช่น อุบัติเหตุ การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก การทะเลาะเบาะแว้งกับผู้อื่น
  • การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนจากวัยเด็กเข้าสู่วัยรุ่น
  • การมีโรคประจำตัวเรื้อรัง
  • พันธุกรรมจากพ่อแม่ ทำให้ลูกมีพื้นฐานไม่กล้าแสดงออกทางอารมณ์ และมีความเสี่ยงที่สารเคมีในสมองจะไม่สมดุลด้วย

ผลกระทบจากความกังวล

คนส่วนใหญ่มักคิดว่าความวิตกกังวลจากสถานการณ์ต่าง ๆ เป็นเรื่องเล็ก แต่หากเกิดความรุนแรงถึงขั้นได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรควิตกกังวลแล้ว อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ป่วยได้อย่างคาดไม่ถึง

  • ผลกระทบต่อสุขภาพกาย ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำลง จึงป่วยง่ายกว่าปกติ อีกทั้งยังก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง ปวดหัวเรื้อรัง โรคไมเกรน โรคหลอดเลือดหัวใจ และเพิ่มแนวโน้มที่จะใช้สารเสพติดมากขึ้น
  • ผลกระทบต่อสุขภาพใจ เป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้า วิตก กระวนกระวาย นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ไม่มีสมาธิ และมีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้น
  • ผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน กลายเป็นคนโกรธง่าย ทำให้มีปฏิสัมพันธ์เชิงลบกับคนรอบข้าง ก่อให้เกิดปัญหาในความสัมพันธ์ ไม่สามารถเรียนหรือทำงานได้อย่างเต็มที่

แนวทางการรับมือความวิตกกังวลอย่างถูกวิธี

หากรู้สึกว่าตัวเองหรือคนรอบข้างเริ่มมีความวิตกกังวลมากผิดปกติ และมีอาการตามที่กล่าวไป เบื้องต้นสามารถรับมือด้วยตัวเองได้ง่าย ๆ โดยการทำกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มความผ่อนคลายเหล่านี้

  • การหายใจแบบนับจังหวะ
  • การทำสมาธิ เพื่อให้มีสติและรู้สึกปล่อยวาง
  • การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสรีระและไม่หนักมากเกินไป
  • การหาเวลาพักผ่อน
  • การทำกิจกรรมที่เพลิดเพลิน เช่น การท่องเที่ยว การดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ ทำงานศิลปะ หรือกิจกรรมอื่น ๆ
  • การพูดคุยหรือปรึกษากับคนที่ไว้ใจ เพื่อให้เกิดกำลังใจในการสู้กับปัญหาที่เผชิญอยู่

วิตกกังวลแค่ไหนถึงควรไปพบแพทย์ ?

สำหรับผู้ที่รู้สึกว่าช่วงนี้ ตัวเองมีความวิตกกังวลมากผิดปกติ แต่ยังไม่รู้ว่าจะเข้าข่ายเป็นผู้ป่วยโรควิตกกังวลหรือยัง แนะนำว่าควรไปพบแพทย์เมื่อความรู้สึกนี้เริ่มรบกวนชีวิตประจำวัน โดยแพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และทำแบบประเมินทางจิตเวชเพื่อตรวจหาความผิดปกติ จะได้วางแผนการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

โดยทั่วไป การรักษาโรควิตกกังวลสามารถรักษาได้ด้วย 2 วิธีด้วยกัน คือ

  • การรักษาด้วยยา เช่น ยาระงับอาการวิตกกังวล ยาควบคุมอาการทางกาย เพื่อปรับสมดุลสารสื่อประสาทในสมอง
  • การบำบัดทางจิต เป็นการพูดคุยกับจิตแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจตัวเองและควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น

แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นโรคทางจิตเวช แต่ความวิตกกังวลไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดและเป็นสิ่งที่รับมือได้ เพียงแค่เรารู้ เข้าใจ และดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี หากต้องการคำปรึกษาเพื่อดูแลจิตใจให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขอีกครั้ง สามารถพูดคุยหรือขอความช่วยเหลือจากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาได้ที่โรงพยาบาลแบงค็อก เมนทัล เฮลท์ โรงพยาบาลจิตเวชเฉพาะทางในเครือของโรงพยาบาลเวชธานี เรายินดีดูแลคุณอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ก้าวผ่านช่วงเวลาแห่งความไม่สุขสบายได้อย่างราบรื่น

สามารถนัดหมายล่วงหน้าได้ที่

โทรศัพท์: 02-589-1889

LINE Official Account: @bmhh

Location & Google Map: ติวานนท์ 39

Website: bangkokmentalhealthhospital.com

บทความที่เกี่ยวข้อง

ธันวาคม 6, 2024
โรคแกล้งป่วย เมื่อความเจ็บป่วยกลายเป็นการแสดง

การเจ็บป่วยเป็นเรื่องธรรมชาติที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ แต่ในบางกรณี ความเจ็บป่วยกลับถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อแสวงหาผลประโยชน์บางอย่าง

พฤศจิกายน 29, 2024
5 อาการ โรคหลายบุคลิก

บุคลิกภาพของแต่ละบุคคล อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสถานการณ์ต่าง ๆ  ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติเพราะคนเรามักมีการปรับตัวเข้ากับสังคม

พฤศจิกายน 29, 2024
โรคชอบขโมย ไม่ใช่แค่ “ขโมย” แต่เป็น “โรค” 

การลักเล็กขโมยน้อย เป็นพฤติกรรมที่ใครเจอก็ต้องส่ายหัว เพราะต้องคอยระแวงข้าวของของตัวเองอยู่ตลอดเวลา แต่ในทางจิตเวชมีอยู่ 1

บทความเพิ่มเติม