ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หรือ Postpartum Depression เป็นภาวะแทรกซ้อนหลังคลอดที่พบได้บ่อยในระยะ 1 ปีแรก เกิดจากการเปลี่ยนของระดับฮอร์โมนอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้อารมณ์ของคุณแม่มีความเปลี่ยนแปลง โดยมีอาการที่พบบ่อย เช่น ความกังวล รู้สึกไร้ค่า คิดว่าตัวเองเป็นแม่ที่ไม่ดีพอ โดยอาการซึมเศร้าหลังคลอดนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อความผูกพันระหว่างแม่และลูก
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ
- ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด (postpartum blue)
- เป็นการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ และการปรับตัวตามปกติหลังคลอด พบได้ประมาณ 40-85%
- อาการที่พบ เช่น อารมณ์เศร้า อ่อนไหวง่าย ร้องไห้ง่าย ขี้หงุดหงิด วิตกกังวล ตึงเครียด ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย หรือนอนไม่หลับ โดยอาการมักเกิดภายใน 2-4 วันแรกหลังคลอด และรุนแรงที่สุดประมาณวันที่ 5 หลังจากนั้นอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นได้เองภายในเวลาประมาณ 2 สัปดาห์
- การรักษาด้วยยาแก้ซึมเศร้าจึงไม่จำเป็นสำหรับภาวะนี้ โดยแพทย์ผู้รักษาอาจให้การช่วยเหลือโดยการให้ข้อมูล ให้คำปรึกษา ปลอบโยน และอาจแนะนำให้ญาติเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลคุณแม่หลังคลอดมากขึ้น หากยังมีอาการมากหลังผ่านไป 2 สัปดาห์ และมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น อาจบ่งชี้ว่ากำลังพัฒนาเป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (postpartum depression)
- ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (postpartum depression)
- ประมาณ 10-20% ในคุณแม่หลังคลอด มีลักษณะอาการอารมณ์เศร้า อ่อนไหวง่าย ร้องไห้ง่าย ขี้หงุดหงิด วิตกกังวล และมีอาการเด่นที่พบบ่อยในโรคซึมเศร้าหลังคลอดที่แตกต่างจากโรคซึมเศร้า คือ ความกังวล อาการย้ำคิดย้ำทำเกี่ยวกับทารก มีความรู้สึกว่าตัวเองเป็นแม่ที่ไม่ดีพอ สงสัยในความสามารถของตัวเองในการดูแลทารก ไม่สามารถรู้สึกผูกพันกับทารกได้เหมือนคุณแม่หลังคลอดทั่วไป โดยอาการซึมเศร้าหลังคลอดนี้ จะรบกวนการสร้างความผูกพันระหว่างแม่และทารก (bonding)
- อาการของโรคซึมเศร้าหลังคลอดมักเกิดหลังคลอดไปแล้วประมาณ 4-6 สัปดาห์ และสามารถคงอยู่ได้นานเป็นปีหากไม่ได้รับการดูแลรักษา ซึ่งอาจส่งผลต่อการดูแลทารกที่ไม่เหมาะสม เช่น คุณแม่หงุดหงิด ทอดทิ้งทารก และยังส่งผลต่อพัฒนาการในหลาย ๆ ด้านของทารก
- การรักษาโรคซึมเศร้าหลังคลอดต้องพิจารณาความเสี่ยงหลายด้าน โดยเฉพาะความเสี่ยงของตัวโรคต่อคุณแม่และทารก และความเสี่ยงของการได้รับยารักษา เพราะยาบางชนิดสามารถผ่านน้ำนมไปสู่ทารกได้ หากอาการไม่รุนแรง อาจพิจารณาการรักษาโดยไม่ใช้ยาก่อน อาจเป็นการทำจิตบำบัดชนิดต่าง ๆ แต่หากจำเป็นต้องใช้ยา ควรให้การรักษาแบบใช้ยาชนิดเดียวจะมีความปลอดภัยสูงกว่า
อย่างไรก็ตามหากคุณแม่ที่มีอาการเข้าข่ายภาวะเศร้าหลังหลอดหรือภาวะซึมเศร้าหลังคลอดจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและความสัมพันธ์ในครอบครัว แนะนำให้มาปรึกษาจิตแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสม
บทความที่เกี่ยวข้อง
ภาวะศพเดินได้ เมื่อจิตใจหลอกลวงร่างกายว่าตายแล้ว
เคยสงสัยไหมว่าทำไมคนเราถึงคิดว่าตัวเองตายไปแล้ว ทั้งที่ยังเดินได้ ทำงานได้ตามปกติ นี่อาจฟังดูเหมือนเรื่องราวในหนังสยองขวัญ
เช็กให้ดี คุณมีอาการของโรคย้ำคิดย้ำทำหรือเปล่า?
ย้ำคิดย้ำทำ เป็นคำที่ถูกเอามาใช้ในบริบทต่างๆ ค่อนข้างมาก มักใช้เรียกพฤติกรรมการคิดและการกระทำซ้ำๆ ที่เกิดขึ้นกับทุกคนได้ในชีวิตประจำวัน
เคล็ด(ไม่)ลับบำบัดความเครียด
ความเครียดเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถเลี่ยงได้ในชีวิตประจำ แต่การรับมือกับความเครียดเป็นสิ่งที่เราสามารถฝึกฝนกันได้ โดยการฝึกสติและสมาธิ
Talk to Doctor
Call Us
Line BMHH