ไม่ว่าใครก็รักลูก อยากให้ลูกได้สิ่งที่ดีที่สุด แต่ถ้ารักแบบผิดวิธี เช่น การเลี้ยงลูกแบบตามใจทุกอย่าง ไม่เคยขัดใจ ไม่เคยต้องอดทนรอคอย สิ่งเหล่านี้อาจกลายเป็นกับดักที่ทำให้ลูกกลายเป็นโรคฮ่องเต้ซินโดรมโดยไม่รู้ตัว
แพทย์หญิงอริศรา ชีวะพฤกษ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า ฮ่องเต้ซินโดรม (Little Emperor Syndrome) เป็นโรคที่เกิดในเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบปกป้อง ตามใจ มากจนเกินไป โดยไม่ปล่อยให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะอดทน ผิดหวัง หรือแม้แต่เผชิญความลำบากด้วยตัวเอง และมักจะยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางของสังคม ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขอาจส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตในอนาคต
อาการของเด็กที่มีภาวะฮ่องเต้ซินโดรม คือ มีลักษณะนิสัยเอาแต่ใจ ต้องการสิ่งใดต้องได้สิ่งนั้น โดยไม่ได้เรียนการทำตามกฎเกณฑ์และกติกาสังคม ทำให้ขาดความอดทน ไม่สามารถรอคอยสิ่งใดได้นาน, ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของตนเองได้, ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้, และขาดความรับผิดชอบ ไม่สามารถรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองได้
ผลกระทบจากภาวะฮ่องเต้ซินโดรม จะทำให้เด็กขาดความยอมรับนับถือในตนเอง (Low Self-Esteem) เพราะได้สิ่งที่ตนเองต้องการมาได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องพยายามอะไร จึงไม่มีความภูมิใจในตนเอง, ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง อาจส่งผลให้เด็กไม่ได้เรียนรู้กฎกติกาในการอยู่ร่วมกันในสังคม เพราะสนใจแต่ความต้องการของตนเป็นที่ตั้ง,ไม่รู้จักควบคุมและจัดการอารมณ์ของตนเอง, ไม่มีเหตุผล ทำให้เด็กขาดความเข้าใจการใช้เหตุผล ขาดตรรกะในวิธีคิดที่ถูกต้องและเหมาะสม รวมถึงไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ มีความอดทนต่ำ ไม่ชอบการรอนาน เพราะชินกับการได้รับตอบสนองอย่างรวดเร็วจากพ่อแม่, มีพฤติกรรมก้าวร้าว, ผลการเรียนไม่ดี และมีโอกาสที่จะติดสุรา ยาเสพติด
การรักษาสามารถทำได้โดยการปรับพฤติกรรมการเลี้ยงดูของพ่อแม่ เช่น กำหนดกฎเกณฑ์ในการเลี้ยงดูลูก, การสอนให้เด็กรู้จักเข้าใจเหตุและผล, มีความรับผิดชอบ, แก้ปัญหาด้วยตัวเอง รวมถึงรู้จักทักษะการเข้าสังคม นอกจากนี้พ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็กแสดงออกถึงความรักและความเข้าใจในตัวเด็ก ไม่ตามใจมากจนเกินไป แต่หากปรับตัวแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบจิตแพทย์เพื่อวางแผนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการรักษาให้เหมาะสม
การป้องกันภาวะฮ่องเต้ซินโดรม
- ตั้งกฎกติกาง่ายๆ ในบ้านกับลูก เพื่อสอนให้ทราบถึงกฎเกณฑ์ของการอยู่ร่วมกันในสังคม สิ่งไหนทำได้ สิ่งไหนทำไม่ได้ เช่น กำหนดเงื่อนไขเวลานอน กิน เล่น ให้ตรงต่อเวลา
- เมื่อลูกทำผิด ต้องมีบทลงโทษที่เหมาะสมทันที ตามที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า อย่างกังวลว่าถ้าลงโทษแล้วลูกจะไม่รักจนละเลยไม่ลงโทษ จะทำให้ลูกไม่ได้เรียนรู้ว่าอะไรไม่ควรทำ
- คุณพ่อคุณแม่ควรให้เวลาคุณภาพกับลูก มากกว่าให้ลูกอยู่กับของเล่น เช่น ทำกิจกรรมร่วมกัน พูดคุยกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เพื่อฝึกให้ลูกเคารพในความเห็นและความต้องการของผู้อื่น
- ให้รางวัลบ้างเมื่อลูกมีความพยายาม ทำความเข้าใจว่า รางวัลนี้ไม่ใช่ให้เมื่อลูกทำได้ แต่เป็นรางวัลที่ลูกมีความพยายามที่จะทำให้มันสำเร็จ
ทั้งนี้หากคุณพ่อคุณแม่มีความกังวลว่าลูกจะเสี่ยงภาวะฮ่องเต้ซินโดรม สามารถพาบุตรหลานมาพบจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เพื่อรับคำแนะนำในการเลี้ยงดูลูกอย่างเหมาะสมต่อไป
แพทย์หญิงอริศรา ชีวะพฤกษ์
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital
บทความที่เกี่ยวข้อง
ก้าวข้ามผ่านความทุกข์ด้วยพลังของการบำบัด
ในสังคมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบและความกดดัน การรักษาสุขภาพจิตกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้การดูแลสุขภาพร่างกาย
GAD เมื่อความกังวลกลายเป็นปัญหา
ทุกคนย่อมมีความกังวลใจบ้างเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน แต่ความกังวลที่มากเกินไปและต่อเนื่องเป็นเวลานานจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
บาดแผลที่เกิดขึ้นในใจเด็ก อาจเสี่ยงเป็น PTSD
โรค PTSD หรือโรคเครียดหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ เป็นโรคจิตเวชที่สามารถเกิดได้กับทุกคนที่ประสบเหตุการณ์รุนแรงหรือเหตุการณ์สะเทือนใจมา
Talk to Doctor
Call Us
Line BMHH