ทุกๆ วันที่ 24 พฤษภาคมของทุกปี องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้เป็นวันจิตเภทโลก เพื่อรณรงค์ให้ทุกคนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคจิตเภทอย่างถูกต้อง และลดการตีตราผู้ป่วยโรคจิตเภทจากสังคม ซึ่งจากสถิติพบว่าโรคจิตเภท มักเกิดขึ้นในกลุ่มวัยทำงานมากกว่าวัยอื่นๆ เนื่องจากความเครียดเป็นหนึ่งในสาเหตุการก่อโรค
แพทย์หญิงณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล จิตแพทย์ โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า วัยทำงานเป็นวัยที่ต้องเผชิญกับสภาวะความเครียดจากปัญหาต่างๆ ในชีวิตมากกว่าวัยอื่นๆ ทั้งเรื่อง การทำงาน การเข้าสังคม หรือการแบกความรับผิดชอบในวัยที่มากขึ้น ดังนั้น วัยทำงานจึงเป็นช่วงอายุที่พบโรคทางจิตเวชได้มากที่สุด
“โรคจิตเภท”หรือ Schizophrenia เป็น 1 ใน 5 โรคทางจิตเวชที่พบบ่อยในวัยทำงาน เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง ส่งผลให้มีความคิดและการรับรู้ที่ผิดปกติไปจากเดิม โดยมักจะมีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน พูดไม่รู้เรื่องหรือมีพฤติกรรมแปลกๆ สาเหตุของการเกิดโรคแบ่งเป็น 3 สาเหตุ ได้แก่ พันธุกรรม, ความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง, และภาวะทางด้านจิตใจ ซึ่งโรคจิตเภทเป็นโรคที่มีความรุนแรงจำเป็นต้องรีบรักษา
นอกจากนี้ โรคอื่นๆ ที่สามารถพบได้บ่อยในกลุ่มวัยทำงาน ได้แก่
- ติดสารเสพติด พบมากในวัยผู้ใหญ่ แต่ก็พบเพิ่มมากขึ้นในเยาวชนตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป ยาเสพติดที่ถูกใช้มากที่สุดในประเทศไทย คือ สุราร้อยละ 18 บุหรี่ร้อยละ 14.9 และติดยาเสพติดอื่นๆ เช่น กัญชา ยาบ้า ยาไอซ์ ร้อยละ 2.8
- โรคซึมเศร้า มีคนจำนวนมากที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า ทำให้ไม่ได้เข้ารับการรักษาหรือบางคนอาจรู้ตัวแต่ไม่ยอมรักษาจนทำให้มีอาการที่รุนแรงขึ้น
- โรควิตกกังวล ในกลุ่มวิตกกังวลมีหลายชนิด ที่พบมากได้แก่ โรคแพนิค โรคกลัวสถานที่ โรควิตกกังวลไปทั่ว และโรคเครียดหลังประสบเหตุการณ์รุนแรง
- โรคอารมณ์แปรปรวนหรือโรคไบโพลาร์ ผู้ป่วยจะมีลักษณะอารมณ์เปลี่ยนไปมา ระหว่างซึมเศร้าสลับกับช่วงอารมณ์ดีมากกว่าปกติ
ไม่เพียงแต่วัยทำงานเท่านั้นที่เป็นโรคทางจิตเวชได้ ในวัยอื่นๆ ก็สามารถเกิดโรคทางจิตเวชได้เช่นกัน โดยจะแบ่งเป็นตามกลุ่มวัย ดังนี้
วัยเด็กและวัยรุ่น
มักได้รับการวินิจฉัยโรคในช่วงอายุ 7 – 14 ปี โดยในช่วงวัยนี้พบความชุกของโรคตามลำดับ ดังนี้ โรคสมาธิสั้น, โรคออทิสติก, โรคพฤติกรรมเกเรก้าวร้าว, และสติปัญญาต่ำกว่าวัย
วัยสูงอายุ
เป็นวัยที่มักเกิดโรคสมองเสื่อม ซึ่งเป็นภาวะที่สมองทำงานผิดปกติส่งผลให้มีอาการหลงลืม ความจำเสื่อม บุคคลิกภาพเปลี่ยนแปลงหรือผิดปกติ จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต โดยส่วนใหญ่มักเกิดกับผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
“โรคทางจิตเวช หลายโรครักษาให้หายได้ หลายโรครักษาให้ดีขึ้นได้ เพราะฉะนั้น การเข้ารับรักษาอย่างถูกต้องและต่อเนื่องเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยและคนใกล้ชิดควรต้องให้ความร่วมมือ เพื่อผู้ป่วยจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างปกติสุข” แพทย์หญิงณัฏฐพัชร์กล่าว
แพทย์หญิงณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล
จิตแพทย์ โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital
บทความที่เกี่ยวข้อง
Social Detox เพื่อชีวิตที่สมดุล
คนทั่วโลกใช้เวลาบนโซเชียลมีเดียเฉลี่ยประมาณ 2-3 ชั่วโมงต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า
เช็กสัญญาณซึมเศร้าหลังคลอดที่คุณแม่ควรรู้
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเป็นเรื่องปกติที่พบได้บ่อยในคุณแม่หลังคลอด ประมาณ 1 ใน 7 ของคุณแม่จะประสบกับภาวะนี้ มักเกิดขึ้นภายใน 2 สัปดาห์แรกหลังคลอด
เมื่อใจต้องเผชิญกับความสูญเสีย ดูแลใจอย่างไรให้กลับมาแข็งแรง
การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักเป็นเรื่องที่ทุกคนอาจต้องเผชิญในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต ความรู้สึกเศร้าและอ้างว้างที่เกิดขึ้นสามารถสร้างความท้าทาย
Talk to Doctor
Call Us
Line BMHH