การเลี้ยงเด็กไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะยิ่งเมื่อเด็กโตขึ้นคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องเจอกับสถานการณ์ลูกเริ่มดื้อ เช่น โดนขัดใจร้องโวยวาย ปาข้าวของ พฤติกรรมก้าวร้าว ซึ่งการที่เด็กดื้อเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น ตัวของเด็กเอง เพราะเด็กทุกคนเกิดมาไม่เหมือนกัน, เด็กมีพื้นฐานอารมณ์แตกต่างกัน ทำให้คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้ทันพัฒนาการของลูกและเตรียมรับมือให้เหมาะสมกับพัฒนาการของลูกตามวัย
4 เทคนิครับมือลูกดื้อ เอาแต่ใจ
- ฝึกการควบคุมอารมณ์ เป็นธรรมดาที่พ่อแม่จะมีอารมณ์หัวเสีย หรือเครียด เวลาเจอลูกที่ดื้อ หรือ ก้าวร้าว ซึ่งขั้นตอนแรกในการรับมือกับลูกดื้อ คือพ่อแม่ต้องควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ได้ก่อน เพราะจะไม่สามารถที่จะตัดสินใจหรือรับมือกับลูกได้ในขณะที่กำลังมีอารมณ์โกรธ ในขณะเดียวกันเด็กที่กำลังมีอารมณ์โกรธหรือเสียใจอยู่ก็ต้องการให้ผู้ใหญ่ที่จิตใจสงบมาช่วยให้เค้าใจเย็นลงด้วย
- พูดกับลูกด้วยท่าทางสงบนิ่ง พ่อแม่ควรคุยกับลูกที่กำลังมีอารมณ์ดื้ออยู่ด้วยน้ำเสียงสงบนิ่งแต่หนักแน่น ใบหน้าเรียบเฉย ไม่ใช้เสียงดุขู่ หรือ ตามใจ อย่าใช้อารมณ์ในขณะพูดคุย โดยเลี่ยงการถามลูกว่าเพราะอะไร เช่น เพราะอะไรถึงดื้อ, ทำไมถึงทำแบบนี้ หรือ ทำไมไม่ทำตามที่แม่บอก เพราะเด็กไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ในเวลานั้น แต่การโดนถามจะยิ่งทำให้เด็กมีอารมณ์เสียมากขึ้น
- ขอเวลานอก หรือ “Time out” หากพูดคุยแล้วลูกยังไม่สามารถสงบอารมณ์ได้ อาจใช้วิธีการขอเวลานอก หรือ “Time out” โดยเทคนิคนี้ไม่ใช่การลงโทษ แต่เป็นเทคนิคที่ใช้เพื่อช่วยให้เด็กที่กำลังมีอารมณ์โกรธสงบลงได้เร็วขึ้น โดยพ่อแม่ต้องแน่ใจก่อนว่าก่อนใช้เทคนิคนี้ตัวเองควบคุมอารมณ์ได้ดีพอสมควรแล้ว เตรียมสถานที่ในบ้านที่ใช้สำหรับเป็นที่ขอเวลานอก ควรเป็นสถานที่ที่สงบและปลอดภัย มีที่ให้เด็กสามารถนั่งเพื่อสงบอารมณ์ ไม่มีสิ่งเร้าหรือตัวกระตุ้นอื่นมารบกวน
- ตั้งกติกาที่ชัดเจนในครอบครัว เพื่อฝึกให้เด็กมีพฤติกรรมเหมาะสม ควรตั้งกติกาในครอบครัวที่กระชับ และชัดเจนเพื่อช่วยให้เด็กควบคุมตัวเองได้ง่ายขึ้น เช่น ในบ้านมีกติกาว่าต้องพูดคำไพเราะ โดยที่สมาชิกในบ้านทุกคนต้องปฏิบัติตามกฏเหล่านั้นและควรตั้งเงื่อนไขตามมาว่า ถ้าทำได้จะเป็นอย่างไร ถ้าทำตรงข้าม เช่น พูดคำหยาบ จะเกิดอะไร ทำให้เด็กได้เรียนรู้ผลลัพธ์ของการปฏิบัติตามกฏกติกามากขึ้น
ถ้าหากลองด้วยเทคนิคเหล่านี้ไม่ได้ผล ลูกยังมีพฤติกรรมดื้อ ต่อต้าน แนะนำควรปรึกษาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นเพื่อประเมินสภาวะอารมณ์ จิตใจ ความคิดและการปรับตัวของลูกเพื่อได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม
พญ.อรรัตน์ เชาว์กุลจรัสศิริ
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
บทความที่เกี่ยวข้อง
Social Detox เพื่อชีวิตที่สมดุล
คนทั่วโลกใช้เวลาบนโซเชียลมีเดียเฉลี่ยประมาณ 2-3 ชั่วโมงต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า
เช็กสัญญาณซึมเศร้าหลังคลอดที่คุณแม่ควรรู้
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเป็นเรื่องปกติที่พบได้บ่อยในคุณแม่หลังคลอด ประมาณ 1 ใน 7 ของคุณแม่จะประสบกับภาวะนี้ มักเกิดขึ้นภายใน 2 สัปดาห์แรกหลังคลอด
เมื่อใจต้องเผชิญกับความสูญเสีย ดูแลใจอย่างไรให้กลับมาแข็งแรง
การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักเป็นเรื่องที่ทุกคนอาจต้องเผชิญในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต ความรู้สึกเศร้าและอ้างว้างที่เกิดขึ้นสามารถสร้างความท้าทาย
Talk to Doctor
Call Us
Line BMHH