วันที่ 4 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันอ้วนโลก (World Obesity Day) ซึ่งมีจุดประสงค์ในการรณรงค์สร้างความตระหนักถึงผลกระทบของโรคอ้วนสุขภาพทางกายและจิตใจ ซึ่งสาเหตุของโรคอ้วน นอกจากวิถีชีวิต และ พฤติกรรมการกินแล้ว โรคอ้วนยังอาจมีสาเหตุจากโรคทางจิตเวชในกลุ่ม โรคความผิดปกติทางการกิน (Eating disorders) ซึ่งโรคเหล่านี้ พบได้บ่อย แต่มักจะถูกมองข้าม และในบางกรณี หากปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
นายแพทย์ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์ จิตแพทย์ โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า โรคความผิดปกติทางการกิน (Eating disorders) เป็นโรคทางจิตเวช ที่มีอาการสำคัญ คือ พฤติกรรมการกินที่ผิดปกติไป ไม่ว่าจะเป็นการอดอาหาร หรือ กินเยอะจนควบคุมไม่ได้ ซึ่งอาการทางพฤติกรรมเหล่านี้ มีความสัมพันธ์กับสภาวะจิตใจ เช่น อาจสัมพันธ์กับความกังวลต่อน้ำหนักตัว กังวลต่อรูปร่าง เป็นต้น
4 กลุ่มโรค พฤติกรรมการกินผิดปกติ หรือ Eating Disorders ที่พบได้บ่อย
- Anorexia nervosa (อะนอเร็กเซีย) เป็นกลุ่มที่มีความกังวลเกี่ยวกับรูปร่างมาก พยายามควบคุมพฤติกรรมการกินของตนเอง ทำให้กินน้อยลง อดอาหาร นำไปสู่น้ำหนักตัวที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลต่อสุขภาพทางร่างกาย ตั้งแต่ ผมร่วง โลหิตจาง ขาดประจำเดือน กระดูกพรุน ไปจนถึง ภาวะหัวใจหยุดทำงาน และเสียชีวิตได้ ในรายที่มีอาการรุนแรง
- Bulimia nervosa (บูลีเมีย) เป็นกลุ่มที่มีความกังวลเกี่ยวกับรูปร่างมาก แต่ก็ควบคุมพฤติกรรมการกินของตนเองไม่ได้ จึงมีช่วงเวลาที่กินอาหารปริมาณมากแบบควบคุมไม่อยู่ หลังจากนั้นก็เกิดความรู้สึกผิด และพยายามชดเชยในสิ่งที่กินเข้าไป โดยการทำให้ตัวเองอาเจียน หรือ ออกกำลังกายมากจนเกินไป ฟันสึกกร่อน รวมไปถึงทำให้เกิดภาวะการขาดน้ำ เกลือแร่เสียสมดุล ซึ่งนำมาสู่ภาวะหัวใจวาย เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งกรดในกระเพาะที่ออกมาผ่านการอาเจียน สามารถส่งผลให้ทางเดินอาหารอักเสบ
- Binge eating disorders (โรคกินไม่หยุด) เป็นกลุ่มที่ควบคุมพฤติกรรมการกินของตนเองไม่ได้ จึงมีช่วงเวลาที่กินอาหารปริมาณมากอย่างรวดเร็ว และรู้สึกไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ถึงแม้ว่าจะอิ่มแล้วก็ตาม ซึ่งพฤติกรรมการกินแบบนี้ สามารถนำมาซึ่งโรคคอเลสเตอรอลสูง ความดันโลหิตสูง และก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และสมอง ตามมาได้
- โรคความผิดปกติทางการกินอื่น ๆ ซึ่งอยู่นอกเหนือโรคที่พบบ่อยข้างต้น เช่น การกินอาหารได้อย่างจำกัดชนิด ส่งผลให้ร่างกายขาดสารอาหารบางกลุ่ม หรือ การมีพฤติกรรมกินวัตถุที่ไม่ใช่อาหาร เช่น กินดิน กินกระดาษ กินไส้ลวดเย็บกระดาษ เป็นต้น
เช็กลิสต์อาการโรคพฤติกรรมการกินผิดปกติ
- คุณเคยทำให้ตัวเองอาเจียน ใช่หรือไม่
- คุณมีความกังวลว่าตัวเองไม่สามารถควบคุมปริมาณอาหารที่ตัวเองกินได้ ใช่หรือไม่
- คุณน้ำหนักลดไปมากกว่า 6 กิโลกรัม ใน 3 เดือน ใช่หรือไม่
- คุณเชื่อว่าตัวเองอ้วน ทั้ง ๆ ที่คนอื่นบอกว่าคุณผอมเกินไป ใช่หรือไม่
- คุณคิดว่าอาหารมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของคุณมาก หรือ มีความหมกมุ่น จนกระทั่งวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไปเพราะอาหาร ใช่หรือไม่
หากคำตอบตรงกับลิสต์ข้างต้นตั้งแต่ 2 ข้อขึ้นไป คุณอาจเข้าข่ายโรคพฤติกรรมการผิดปกติ
ทั้งนี้ การวินิจฉัยโรคความผิดปกติทางการกิน ไม่ได้วิเคราะห์จากพฤติกรรมการกินมาก กินน้อย หรือ น้ำหนักตัว เพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องวิเคราะห์ให้ลึกถึงความคิด ความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับการกิน, รูปร่าง, ระยะเวลาที่เป็น, และผลกระทบที่เกิดขึ้น
การรักษาโรคความผิดปกติทางการกิน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันจากทั้งผู้ป่วย แพทย์ นักจิตวิทยา และนักโภชนาการ โดยการรักษา ประกอบไปด้วยการบำบัดความคิด และพฤติกรรมการกิน รวมถึงการใช้ยาในบางกรณี ความเข้าใจจากครอบครัว และคนรอบข้าง ก็มีส่วนสำคัญไม่แพ้กัน ในการช่วยให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น และหายจากโรค หากสงสัยว่าตนเอง หรือ คนที่คุณรัก เริ่มมีอาการที่มีลักษณะพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ ควรรีบมาพบจิตแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษา ยิ่งหากตรวจพบเร็ว ได้รับการรักษาเร็ว ก็จะยิ่งมีโอกาสหายขาดได้มากขึ้น
บทความที่เกี่ยวข้อง
Social Detox เพื่อชีวิตที่สมดุล
คนทั่วโลกใช้เวลาบนโซเชียลมีเดียเฉลี่ยประมาณ 2-3 ชั่วโมงต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า
เช็กสัญญาณซึมเศร้าหลังคลอดที่คุณแม่ควรรู้
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเป็นเรื่องปกติที่พบได้บ่อยในคุณแม่หลังคลอด ประมาณ 1 ใน 7 ของคุณแม่จะประสบกับภาวะนี้ มักเกิดขึ้นภายใน 2 สัปดาห์แรกหลังคลอด
เมื่อใจต้องเผชิญกับความสูญเสีย ดูแลใจอย่างไรให้กลับมาแข็งแรง
การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักเป็นเรื่องที่ทุกคนอาจต้องเผชิญในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต ความรู้สึกเศร้าและอ้างว้างที่เกิดขึ้นสามารถสร้างความท้าทาย
Talk to Doctor
Call Us
Line BMHH