
คุณพ่อคุณแม่ย่อมคาดหวังให้ลูกตั้งใจศึกษาเล่าเรียน และมีผลการเรียนอยู่ในระดับดี เพื่ออนาคตที่สดใส แต่หลายครอบครัวกลับพบว่าลูกไม่ได้ทำในสิ่งที่คาดหวัง จึงเกิดความรู้สึกกังวลใจ คิดว่าลูกไม่ตั้งใจเรียน เป็นเด็กเกเร ซึ่งนั่นอาจไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริงเสมอไป แต่อาจเพราะลูกกำลังเผชิญกับปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียนบางอย่าง ที่คุณพ่อคุณแม่อาจไม่เคยรู้มาก่อน
ดังนั้น การเข้าใจถึงปัญหาจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้สามารถช่วยเหลือได้อย่างถูกวิธี เพื่อลูกน้อยกลับมาใช้ชีวิตในโรงเรียนได้อย่างมีความสุข
ปัญหาในโรงเรียนที่ทำให้ลูกไม่ตั้งใจเรียนมีอะไรบ้าง ?
ปัญหาในวัยเรียนที่ส่งผลต่อการเรียนของเด็กสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ดังนี้
ปัจจัยภายในตัวเด็ก
เด็กแต่ละคนมีความพร้อมต่อการศึกษาเล่าเรียนที่แตกต่างกัน ซึ่งบางคนอาจมีข้อจำกัดทางร่างกายหรือการเรียนรู้ เช่น
- ปัญหาสุขภาพที่ทำให้ขาดเรียนบ่อย หรือไม่มีสมาธิในการเรียน
- ความสามารถในการเรียนรู้ เช่น เรียนไม่ทันหรือไม่ดีเท่าเพื่อน ทำให้รู้สึกด้อยค่า ท้อแท้ต่อการเรียน
- ภาวะพิเศษ เช่น โรคสมาธิสั้น (ADHD) โรคดิสเล็กเซีย (Dyslexia) เป็นต้น ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ
ปัจจัยภายนอกจากครอบครัว
บรรยากาศในครอบครัวเป็นอีกปัจจัยสำคัญมีผลต่อสภาพจิตใจและการเรียนของเด็กอย่างมาก เช่น
- ความขัดแย้งในครอบครัว เช่น พ่อแม่ทะเลาะกัน หรือกำลังอยู่ในช่วงหย่าร้าง
- ความคาดหวังของพ่อแม่ที่สูงเกินไป จนทำให้ลูกเกิดความกดดัน และไม่อยากไปโรงเรียน
- การขาดการสนับสนุน เช่น ไม่มีพื้นที่ทำการบ้าน หรือไม่มีคนช่วยสอนเมื่อไม่เข้าใจ
ปัจจัยจากโรงเรียน
เนื่องจากเด็กต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในโรงเรียน และต้องใช้ชีวิตร่วมกับครู รวมถึงเพื่อน ๆ ทุกคน จึงเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาที่กระทบต่อการเรียนรู้ของเด็กได้ง่าย โดยที่พบได้เป็นส่วนมาก คือ
- บรรยากาศในห้องเรียนไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ เช่น ร้อนเกินไป หรือมีเสียงรบกวน
- ความสัมพันธ์ที่ไม่ดี ระหว่างเด็กกับครู หรือเด็กกับเพื่อน ๆ ในโรงเรียน
- ปัญหาในโรงเรียนอื่น ๆ เช่น การถูกเพื่อนรังแก การโดนครูลงโทษอย่างไม่เป็นธรรม

วิธีสังเกตว่าลูกมีปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียนหรือไม่ ?
หากมั่นใจว่าครอบครัวให้การสนับสนุน พร้อมดูแลทางด้านร่างกาย และจิตใจของลูกเป็นอย่างดี แต่ยังพบว่าลูกไม่ตั้งใจเรียน และไม่อยากไปโรงเรียน อาจมีสาเหตุจากปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ซึ่งสามารถสังเกตได้จากสิ่งเหล่านี้
การเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม
- แสดงความก้าวร้าวมากขึ้น
- เคยร่าเริงแต่กลับเงียบขรึม
- ไม่ค่อยอยากไปโรงเรียน
- มักบ่นป่วย หรือร้องไห้ เมื่อถึงเวลาไปโรงเรียน
- รับประทานอาหารได้น้อยลง
- นอนไม่หลับ ฝันร้ายบ่อย ๆ
การเปลี่ยนแปลงด้านการเรียน
- ไม่ยอมทำการบ้าน
- ผลการเรียนตกลงอย่างเห็นได้ชัด
- ขาดความกระตือรือร้นในการเรียนรู้
สัญญาณทางกายภาพ
- มีรอยฟกช้ำ หรือร่องรอยของการถูกทำร้าย
- ของใช้หายบ่อย เช่น หนังสือ อุปกรณ์การเรียน หรือเงิน
มีปัญหาในการเข้าสังคม
- ไม่ค่อยมีเพื่อน หรือถูกเพื่อนรังแก
สิ่งที่ควรทำหากพบว่าลูกกำลังมีปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียน
สำหรับแนวทางที่คุณพ่อคุณแม่ควรปฏิบัติ หากสังเกตพบว่าลูกต้องเผชิญกับปัญหาที่โรงเรียน มีดังนี้
สร้างการสื่อสารที่เปิดกว้าง
- พูดคุยกับลูกด้วยท่าทีที่เป็นมิตร
- รับฟังโดยไม่ตัดสินหรือตำหนิ
- ให้ลูกรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่พร้อมช่วยเหลือเสมอ
ร่วมมือกับโรงเรียน
- ขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับพฤติกรรมของลูกที่โรงเรียน
- พูดคุยกับครูประจำชั้น เพื่อหาแนวทางแก้ไขที่เหมาะสม
วิธีการรับมือเมื่อลูกไม่ยอมไปโรงเรียน
วิธีการรับมือเมื่อลูกงอแงไม่ยอมไปโรงเรียน สิ่งแรกคือคุณพ่อคุณแม่ต้องตั้งสติให้มั่น พร้อมควบคุมอารมณ์ของตนเองอย่างดีที่สุด และปฏิบัติตามวิธีดังต่อไปนี้
- พูดคุยกับลูกถึงสาเหตุ แสดงออกให้ลูกเห็นว่าเข้าใจในสิ่งที่เขากังวล
- ยืนยันว่าลูกต้องไปโรงเรียน ด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล พูดด้วยเหตุผลถึงประโยชน์ของการไปโรงเรียน
- สร้างแรงจูงใจด้วยการชวนคุยเรื่องดี ๆ เช่น กิจกรรมสนุก ๆ ที่โรงเรียน หรือการให้รางวัลเล็กน้อย เพื่อเป็นกำลังใจ
- พยายามไปส่งลูกด้วยตนเองก่อนในช่วงนี้ เพื่อให้ลูกมั่นใจขึ้น
- เตรียมชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนให้พร้อม เพื่อลดความตึงเครียดก่อนไปโรงเรียนให้มากที่สุด
- กอดลูกทุกเช้าก่อนเดินทางไปโรงเรียน หรือก่อนแยกกัน
หากปฏิบัติตามวิธีการเหล่านี้ แต่อาการไม่อยากไปโรงเรียนของลูกไม่ดีขึ้นภายใน 1 เดือน และแสดงอารมณ์รุนแรง ก้าวร้าวมากขึ้น หรือซึมเศร้าต่อเนื่อง รวมถึงมีอาการทางกายบ่อย ๆ จนต้องยอมให้ลูกหยุดเรียนหลายวัน โดยที่พ่อแม่เริ่มกังวลใจ แนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เพื่อรับการบำบัดรักษาอย่างเหมาะสม
การเข้าใจสาเหตุที่แท้จริงที่ลูกไม่ตั้งใจเรียน และความร่วมมือจากทั้งครอบครัว โรงเรียน และนักจิตวิทยา จะช่วยให้ลูกสามารถก้าวผ่านปัญหาในวัยเรียนไปได้อย่างราบรื่น และพร้อมกลับมามีความสุขกับการเรียนได้อีกครั้ง
หากสงสัยว่าลูกมีปัญหาในวัยเรียน คุณพ่อคุณแม่สามารถพาลูกมาพบจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เพื่อเข้ารับคำปรึกษาได้ที่ Bangkok Mental Health Hospital โรงพยาบาลจิตเวชในเครือโรงพยาบาลเวชธานี เรายินดีอยู่เคียงข้างในทุกสถานการณ์
สามารถนัดหมายล่วงหน้าได้ที่
โทรศัพท์: 02-589-1889
LINE Official Account: @bmhh
บทความที่เกี่ยวข้อง

ชนิดของโรคซึมเศร้า รู้เท่าทัน รับมือถูกวิธี
โรคซึมเศร้า อาการป่วยทางใจที่ไม่ใช่เพียงแค่มีความรู้สึก […]

โรคแพนิคคืออะไร ? มีวิธีบรรเทาอาการอย่างไรบ้าง
โรคแพนิค (Panic Disorder) เป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวชที่ปรา […]

แบบทดสอบจิตวิทยา “เรามีอาการซึมเศร้าอยู่หรือเปล่า ?”
“โรคซึมเศร้า” หรือ “ภาวะซึมเศร้า” เป็นอาการที่เกิดขึ้นไ […]
Talk to Doctor
Call Us
Line BMHH