ในปัจจุบันที่หลายคนต้องเผชิญกับความกดดันรอบด้าน และต้องฟันฝ่าทุกอุปสรรคปัญหาที่รุมเร้า จนต้องใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบอยู่เสมอเพื่อให้ทัน “เส้นตาย” ในทุกหน้าที่ความรับผิดชอบ และต้องแข่งขันอยู่ตลอดเวลาเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นคนที่มีศักยภาพที่ดีกว่าเดิม โดยมีเป้าหมายว่าต้องประสบความสำเร็จ เพราะมุ่งหวังในคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงมีการเงินที่มั่นคง ซึ่งทุก ๆ การกระทำนั้นล้วนส่งผลให้เกิดความเครียดสะสม คิดมาก และวิตกกังวล หากไม่สามารถจัดการกับภาวะเหล่านี้ได้อย่างเหมาะสม อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ
ความเครียดสะสม คืออะไร ? มีอาการอย่างไร ?
ความเครียดสะสม คือภาวะที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน เมื่อร่างกายเผชิญกับ “สิ่งกระตุ้น” ซึ่งอาจเป็นสิ่งท้าทาย ความกดดัน หรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเป็นเวลานาน เช่น ปัญหาในการทำงาน ปัญหาการเงิน ปัญหาส่วนตัว ปัญหาความสัมพันธ์ และปัญหาสุขภาพ ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการเครียด แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
- อาการทางกาย เช่น ปวดหัว กล้ามเนื้อตึง ปวดท้อง นอนไม่หลับ ใจสั่น และเหงื่อออก
- อาการทางอารมณ์ เช่น หงุดหงิด โกรธ วิตกกังวล และซึมเศร้า
- อาการทางพฤติกรรม เช่น กินมากหรือกินน้อยเกินไป สูบบุหรี่มากขึ้น และดื่มแอลกอฮอล์
โรคที่เกิดจากความเครียดสะสม
หากร่างกายต้องเผชิญกับความเครียดสะสมเป็นเวลานาน จะส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคกระเพาะอาหาร โรคลำไส้แปรปรวน โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคนอนไม่หลับ เพราะฉะนั้นหากรู้สึกเครียด ควรหาวิธีจัดการความเครียดอย่างเหมาะสม เพื่อให้สุขภาพร่างกายและจิตใจแข็งแรง
5 วิธีแก้เครียด หยุดอาการคิดมาก
- การสังเกตตัวเอง คือการช่วยให้รับรู้ถึงวิธีการตอบสนองต่อปัญหาของตัวเอง โดยบันทึกไดอารี่ของเหตุการณ์และการตอบสนองของตัวเอง ทั้งทางพฤติกรรม ความคิด ความรู้สึก และปฏิกิริยาทางร่างกาย ซึ่งช่วยให้เห็นรูปแบบของปฏิกิริยาตอบสนองบางอย่างที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ได้ เช่น การมองโลกแง่ลบ พฤติกรรมหลีกเลี่ยงปัญหา เพื่อให้เรารู้เท่าทันอารมณ์และความรู้สึกตัวเอง และหาทางเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น
- ปรับเปลี่ยนความคิด เมื่อมีเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียดขึ้น คนเรามักมีความคิดอัตโนมัติที่มองเหตุการณ์นั้นไปในทางลบ ความคิดลบส่งผลให้เกิดอารมณ์ลบ การฝึกตรวจสอบความคิดอัตโนมัติที่เกิดขึ้นว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ หรือเป็นความคิดที่ก่อประโยชน์แก่ตัวเองหรือไม่ เรียนรู้ที่จะแปลความหมายของเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้เหมาะสมและตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น จะช่วยบรรเทาอาการเครียด และอาการคิดมากให้ลดน้อยลงได้
- ฝึกผ่อนคลาย เป็นหนึ่งวิธีที่ลดอาการเครียด โดยควรฝึกคลายกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย อาจร่วมกับการจินตนาการถึงภาพที่ช่วยให้ผ่อนคลาย และการฝึกหายใจ ใช้ตอนเผชิญกับเหตุการณ์ที่มีความกดดันหรือความเครียดสูง ซึ่งจะช่วยลดปฏิกิริยาตอบสนองทางร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- จัดสรรเวลาให้เหมาะสม แบ่งเวลาชีวิตให้สมดุล ระหว่างงาน ครอบครัว การพักผ่อน งานอดิเรก เป็นต้น ให้บันทึกเวลาที่ใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ในปัจจุบัน แล้วจึงจัดสรรเวลาใหม่ เพื่อที่ตนเองจะได้ไม่ต้องจมกับความเครียดนานจนเกินไป ให้ร่างกายและจิตใจได้มีเวลาผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น
- การจัดการปัญหา เริ่มด้วยระบุปัญหาให้ชัดเจน คิดหาวิธีแก้ปัญหาหลาย ๆ ทางแล้วเลือกทางที่น่าจะดีที่สุดและนำไปใช้จริงได้ ลองปฏิบัติ จากนั้นประเมินผล เพื่อหาวิธีแก้เครียด ลดอาการคิดมากที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อไป
สำหรับคนที่ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต และหาทางผ่อนคลายความเครียดแล้ว แต่ยังไม่สามารถจัดการอาการเครียดและอาการคิดมากได้ด้วยตนเอง แนะนำมาพบจิตแพทย์ ที่โรงพยาบาลแบงค็อก เมนทัล เฮลท์ โรงพยาบาลจิตเวชเฉพาะทางในเครือของโรงพยาบาลเวชธานี เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสม เรายินดีให้การดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้คุณมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง
พญ.ณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล จิตแพทย์
สามารถนัดหมายล่วงหน้าได้ที่
โทรศัพท์: 02-589-1889LINE Official Account: @bmhh
Location & Google Map: ติวานนท์ 39
Website: bangkokmentalhealthhospital.com
บทความที่เกี่ยวข้อง
ก้าวข้ามผ่านความทุกข์ด้วยพลังของการบำบัด
ในสังคมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบและความกดดัน การรักษาสุขภาพจิตกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้การดูแลสุขภาพร่างกาย
GAD เมื่อความกังวลกลายเป็นปัญหา
ทุกคนย่อมมีความกังวลใจบ้างเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน แต่ความกังวลที่มากเกินไปและต่อเนื่องเป็นเวลานานจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
บาดแผลที่เกิดขึ้นในใจเด็ก อาจเสี่ยงเป็น PTSD
โรค PTSD หรือโรคเครียดหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ เป็นโรคจิตเวชที่สามารถเกิดได้กับทุกคนที่ประสบเหตุการณ์รุนแรงหรือเหตุการณ์สะเทือนใจมา
Talk to Doctor
Call Us
Line BMHH