เทคนิคบอกลูกให้เข้าใจ ในวันที่พ่อแม่ต้องแยกทาง

Share
Technique

ในวันที่ชีวิตคู่ไปต่อไม่ได้จนถึงขั้นหย่าร้าง เป็นวิกฤตที่ไม่มีครอบครัวไหนอยากเผชิญ โดยเฉพาะครอบครัวที่มีลูกด้วยกัน ซึ่งการบอกลูกเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด เพราะสำหรับเด็กการมีทั้งพ่อและแม่อยู่ด้วยกันคือสถานที่ที่เค้ารู้สึกปลอดภัยมาตลอด แต่เมื่อการแยกจากกันเกิดขึ้นในครอบครัว ย่อมส่งผลกระทบต่อความรู้สึกมั่นคงทางจิตใจของเด็กได้อย่างมาก ดังนั้นการเตรียมความพร้อมก่อนบอกลูก และเตรียมการดูแลที่เหมาะสมจะช่วยให้เด็กผ่านช่วงเวลาดังกล่าวได้ง่ายขึ้น 

วิธีการแจ้งข่าวร้ายกับลูก 

หากเป็นไปได้ตอนที่บอกลูก พ่อกับแม่ควรนั่งอยู่พร้อมกันด้วยท่าทางที่สงบ และอธิบายเรื่องการตัดสินใจแยกทางของพ่อแม่ สาเหตุการแยกทาง ความขัดแย้ง อาจตัดสินใจเล่าเฉพาะที่เห็นว่าจำเป็น หรือเป็นประโยชน์ แต่ส่วนสำคัญที่สุดที่ต้องเน้นย้ำกับลูกคือ แม้พ่อกับแม่จะแยกทางกันแล้ว แต่ในเรื่องการดูแลลูก พ่อกับแม่ยังคงทำงานร่วมกันเป็นทีมเดียวกันเสมอ พ่อกับแม่จะยังรักลูกเหมือนเดิมไม่เปลี่ยน แต่ถ้าพ่อและแม่อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถนั่งร่วมกันได้ ควรให้พ่อหรือแม่ที่เป็นฝ่ายใช้เวลาอยู่กับลูกมากที่สุดเป็นคนแจ้งข่าว

รายละเอียดการที่จะเล่าให้ลูกฟัง ขึ้นอยู่กับอายุและวุฒิภาวะของลูก โดยพ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงการให้รายละเอียดมากเกินไป เพราะรายละเอียดที่มากอาจทำให้เด็กยิ่งกังวลโดยไม่จำเป็น แต่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ถามในสิ่งที่เค้าสงสัย 

หากกรณีการหย่าร้างมีกระบวนการทางศาลมาเกี่ยวข้อง เช่น การฟ้องหย่า การแย่งบุตร ให้อธิบายลูกว่า ทั้งพ่อและแม่รักหนูกันมาก เราทั้งคู่อยากอยู่ใกล้หนู ดังนั้นเรากำลังอยู่ในช่วงหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับหนู ความเห็นของพ่อกับแม่อาจจะไม่ตรงกัน แต่เราจะหาทางออกในแบบผู้ใหญ่ โดยจะมีผู้ใหญ่คนอื่นมาช่วยคิดด้วย 

อย่างไรก็ตาม ห้ามคุยเรื่องการจัดแบ่งทรัพย์สินต่อหน้าลูก หรือพูดเรื่องที่ทำให้อีกฝ่ายดูแย่ในสายตาลูก เพราะการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่กับลูก จะเป็นเกราะป้องกันที่สำคัญไม่ให้จิตใจของเด็กเสียหายมากขึ้น เนื่องจากก่อนการตัดสินใจหย่าร้างจะเกิดขึ้น ความสัมพันธ์ของพ่อแม่ต้องมีความขัดแย้งมานานพอสมควรแล้ว และหลายๆ ครั้ง เด็กได้เห็นความขัดแย้งนั้นมาตลอด

พญ.อรรัตน์ เชาว์กุลจรัสศิริ
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

บทความที่เกี่ยวข้อง

ตุลาคม 16, 2024
ความเจ็บปวดที่มองไม่เห็น

ปัญหาสุขภาพจิตกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมปัจจุบัน แต่สิ่งที่ตามมาพร้อมกับปัญหาเหล่านี้คือ "การตีตรา" (Stigma)

อาการของผู้ป่วยที่ควรมาหาหมอโรคซึมเศร้า
ตุลาคม 11, 2024
เข้าใจอาการและการรักษาโรคซึมเศร้า ก่อนเข้ามาพบแพทย์

เช็กอารมณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรม ต้องพบแพทย์รักษาโรคซึมเศร้าหรือไม่ แล้วโรคซึมเศร้าอันตรายหรือไม่ สามารถรักษาหายได้ไหม และมีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง

ตุลาคม 10, 2024
โรคซึมเศร้า ภัยเงียบคุกคามสังคม

วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันสุขภาพจิตโลก” (World Mental Health Day) เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต

บทความเพิ่มเติม