จากชีวิตที่เคยเป็นปกติก็พลิกผัน เมื่อความคิดและความรู้สึกเริ่มบิดเบือน โลกที่เคยคุ้นเคยกลายเป็นสถานที่แปลกประหลาดและน่ากลัว นี่คือสิ่งที่ผู้ป่วยโรคจิตเฉียบพลันต้องเผชิญ ซึ่งความรุนแรงของโรคนี้ส่งผลกระทบต่อทุกด้านของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การเรียน และความสัมพันธ์กับผู้อื่น
นายแพทย์ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์ จิตแพทย์โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่าโรคจิตชนิดเฉียบพลัน (Acute Psychosis) หมายถึง ภาวะที่ผู้ป่วยมีอาการทางจิตที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถแยกแยะระหว่างความเป็นจริงกับจินตนาการได้ อาการมักปรากฏขึ้นภายในไม่กี่วันหรือแม้กระทั่งไม่กี่ชั่วโมงแต่ไม่จะเกิน 1 เดือน และอาจทำให้ผู้ป่วยประสบปัญหาในการควบคุมพฤติกรรม ความคิด และการรับรู้
อาการที่พบบ่อยของโรคจิตชนิดเฉียบพลัน ได้แก่
- อาการหลงผิด (Delusions): ความเชื่อที่ผิดไปจากความเป็นจริง เช่น เชื่อว่ามีคนกำลังตามติดหรือพยายามทำร้ายตนเอง
- อาการหลอน (Hallucinations): การรับรู้สิ่งที่ไม่มีอยู่จริง เช่น ได้ยินเสียงที่ไม่มีจริง, เห็นภาพลวงตา
- ความคิดสับสนและไม่เป็นระบบ (Disorganized Thinking): ผู้ป่วยอาจพูดจาสับสน ไม่ต่อเนื่อง และพูดเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกัน
- พฤติกรรมแปลกประหลาด (Disorganized Behavior): เช่น การเคลื่อนไหวร่างกายที่ผิดปกติ หรือการกระทำที่ไม่มีเป้าหมายชัดเจน
- การเปลี่ยนแปลงในอารมณ์และพฤติกรรม: ผู้ป่วยอาจมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว หรือมีอารมณ์เศร้าหมองอย่างรุนแรง
โรคจิตชนิดเฉียบพลันสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสมองและจิตใจ เช่น ความผิดปกติของสารเคมีในสมอง เช่น โดปามีนและเซโรโทนินที่ไม่สมดุล, ความเครียดจากเหตุการณ์รุนแรง เช่น การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ปัญหาทางการเงิน หรือการหย่าร้าง ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นอาการ รวมถึงการติดเชื้อในสมองหรือการบาดเจ็บที่ศีรษะ ที่ส่งผลต่อการทำงานของสมองโดยตรง
การรักษาโรคจิตชนิดเฉียบพลันจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ โดยทั่วไปจะใช้การรักษาหลายวิธีร่วมกัน เช่น การรักษาด้วยยา โดยจิตแพทย์จะเป็นคนเลือกใช้ยาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เพื่อช่วยควบคุมอาการประสาทหลอน ความคิดหลงผิด อารมณ์แปรปรวน และการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive-Behavioural Therapy) ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรับมือกับความคิดและอารมณ์ที่ผิดปกติได้ รวมไปถึงการดูแลสุขภาพกายและใจอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกาย การพักผ่อนให้เพียงพอ และการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ จะช่วยเสริมสร้างสุขภาพและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคซ้ำ
อย่างไรก็ตาม โรคจิตชนิดเฉียบพลันเป็นภาวะที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้ป่วยอย่างมาก การได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็วสามารถช่วยลดความรุนแรงของอาการและช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ หากคุณหรือคนใกล้ชิดมีอาการที่น่าสงสัย ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำและการรักษาที่เหมาะสม
นายแพทย์ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์
จิตแพทย์โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital
บทความที่เกี่ยวข้อง
โรคแกล้งป่วย เมื่อความเจ็บป่วยกลายเป็นการแสดง
การเจ็บป่วยเป็นเรื่องธรรมชาติที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ แต่ในบางกรณี ความเจ็บป่วยกลับถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อแสวงหาผลประโยชน์บางอย่าง
5 อาการ โรคหลายบุคลิก
บุคลิกภาพของแต่ละบุคคล อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติเพราะคนเรามักมีการปรับตัวเข้ากับสังคม
โรคชอบขโมย ไม่ใช่แค่ “ขโมย” แต่เป็น “โรค”
การลักเล็กขโมยน้อย เป็นพฤติกรรมที่ใครเจอก็ต้องส่ายหัว เพราะต้องคอยระแวงข้าวของของตัวเองอยู่ตลอดเวลา แต่ในทางจิตเวชมีอยู่ 1
Talk to Doctor
Call Us
Line BMHH