PTSD ภาวะเครียดหลังเจอเหตุการณ์รุนแรง

Share

โรคเครียดหลังเผชิญเหตุการณ์รุนแรง  Posttraumatic stress disorder (PTSD) หรือ โรคเครียดฉับพลัน Acute stress disorder (ASD) เป็นโรคที่เกิดหลังจากที่ผู้ป่วยเจอกับเหตุการณ์ที่รุนแรง เช่น ภาวะสงคราม อุบัติเหตุร้ายแรง ถูกทารุณกรรม ถูกข่มขืน ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคร้ายแรง จึงก่อให้เกิดอาการทางจิตเวชที่จำเพาะ โดยทั่วไปอาการมักเกิดหลังประสบเหตุทันที ซึ่งพบในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ทหารในภาวะสงคราม ประมาณร้อยละ 8 และพบในคนทั่วไปทุกช่วงอายุประมาณร้อยละ 5 – 75 ทั้งนี้มักพบเป็นในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ปัจจัยเสี่ยงของโรคคือ ความรุนแรง ระยะเวลา ความใกล้ของการเผชิญเหตุการณ์ที่รุนแรง นอกจากนี้ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยอาจมีโรคทางจิตเวชอื่นร่วมด้วย เช่น  โรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว การใช้สารเสพติด และโรควิตกกังวลอื่น ๆ

อาการของโรคเครียดหลังเผชิญเหตุการณ์รุนแรง

การรู้สึกถึงประสบการณ์ที่ตกอยู่ในเหตุการณ์รุนแรงที่ผ่านมาซ้ำ ๆ ไม่ว่าจะหลับหรือตื่น, การหลีกเลี่ยงสิ่งเร้าที่เกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น, มีอาการตื่นตัวง่าย, หวาดกลัวอย่างรุนแรง, รู้สึกไร้ทางออก, ซึมเศร้า ,วิตกกังวล, มีปัญหาด้านสมาธิความจำ ซึ่งผู้ป่วยบางคนอาจมีการรับรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวหรือตัวผู้ป่วยเองผิดไปจากความเป็นจริง เช่น มองเห็นตัวเองราวกับมองจากมุมของผู้อื่น ตกอยู่ในภาวะงุนงง หรือรู้สึกเวลาช้าลง

การวินิจฉัย

สาเหตุของโรคเครียดหลังเผชิญเหตุการณ์รุนแรงคือ  ด้านจิตใจ เมื่อจิตใต้สำนึกถูกกระตุ้นโดยเหตุการณ์ที่รุนแรง ทำให้ผู้ป่วยเกิดพฤติกรรมถดถอย และใช้กลไกป้องกันจิตใจตัวเองที่ไม่เหมาะสมจนเกิดอาการต่าง ๆ และผู้ป่วยเชื่อมโยงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสิ่งที่เตือนให้นึกถึง เช่น  เช่น ภาพ เสียง กลิ่น ทำให้พอเจอสิ่งเตือนก็จะมีอาการหวาดกลัวราวกับเจอเหตุการณ์นั้นจริง ๆ และด้านชีวภาพ พบว่ามีความผิดปกติของสารสื่อประสาทบางตัว หรือความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติที่ทำงานไวเกิน การอยู่ในความเครียดนานจะมีผลทำลายเซลล์สมองทำให้สมองบางส่วนมีขนาดเล็กลง

สำหรับการรักษาจะมีการรักษาด้วยยา โดยยาหลักคือกลุ่มยาต้านเศร้า จะให้ยาเท่ากับผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า และควรให้ยานานอย่างน้อย 1 ปี และการรักษาด้วยจิตบำบัด เช่น ความคิดพฤติกรรมบำบัด (cognitive behavior therapy) สิ่งสำคัญคือ การให้กำลังใจ ส่งเสริมให้ผู้ป่วยได้พูดระบายความรู้สึก ความคิด เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เผชิญมาเท่าที่ผู้ป่วยต้องการ โดยไม่ต้องลงรายละเอียดของเหตุการณ์เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลงจากการรู้สึกว่าเหตุการณ์เกิดซ้ำ ช่วยแนะนำวิธีปรับตัว ฝึกผ่อนคลาย ส่งเสริมให้ญาติมีส่วนช่วยเหลือประคับประคองผู้ป่วย, วิธีบำบัดบาดแผลทางใจ (EMDR) ที่ให้ผู้ป่วยนึกถึงเหตุการณ์ไปพร้อมกับมองตามนิ้วมือของผู้รักษาที่เคลื่อนไหวไปมาตามขวาง และการบำบัดความกลัวด้วยการเผชิญหน้ากับความกลัว ให้ผู้ป่วยเผชิญหน้ากับเหตุการณ์อีกครั้งผ่านการจินตนาการ

อย่างไรก็ตาม การจัดการความเครียดจากเหตุการณ์รุนแรงเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาและอาศัยความอดทน แต่ถ้าไม่สามารถจัดการความเครียดได้ แนะนำให้มาปรึกษาจิตแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

นายแพทย์ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์
จิตแพทย์ผู้ใหญ่

บทความที่เกี่ยวข้อง

ธันวาคม 19, 2024
Midlife crisis วิกฤตวัยกลางคน โอกาสทองในการสร้างชีวิตใหม่

Midlife Crisis หรือที่เรียกในภาษาไทยว่า "วิกฤตวัยกลางคน" เป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม ที่มักเกิดขึ้นในวัยกลางคน

ธันวาคม 16, 2024
ป้องกัน Burnout ก่อนที่จะหมดไฟ

ภาวะ Burnout หรือภาวะหมดไฟในการทำงานนั้น ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตได้อย่างมาก เพราะไม่ใช่แค่ความเหนื่อยล้าธรรมดา

ธันวาคม 13, 2024
6 วิธีรับมือกับคน Toxic

การต้องเผชิญหน้ากับคน Toxic หรือคนที่สร้างความเป็นพิษให้กับชีวิตนั้นเป็นเรื่องที่น่าเหนื่อยใจ การปล่อยให้ความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้นเรื่อย ๆ

บทความเพิ่มเติม