อากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้บางคนมีอารมณ์และความรู้สึกเปลี่ยนตาม โดยเฉพาะฤดูหนาวเป็นช่วงที่กลางวันสั้นกว่าตอนกลางคืนอาจทำให้ใครหลายคน เริ่มมีอาการ เหงา เศร้า รู้สึกว่าชีวิตไม่แฮปปี้เหมือนเคย จนอาจทำให้บางคนอาจป่วยเป็นโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล (Seasonal Affective Disorder: SAD)
นายแพทย์ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์ จิตแพทย์ โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล เป็นโรคทางอารมณ์ชนิดหนึ่งที่มักเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันของแต่ละปีโดยส่วนใหญ่มักเกิดอาการขึ้นในฤดูหนาว อาจมีอาการต่าง ๆ เช่น ซึมเศร้า เหนื่อยล้า แยกตัวจากสังคม ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปภายในไม่กี่เดือน แต่ก็อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความรู้สึกและการใช้ชีวิตในประจำวัน โดยโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลพบได้บ่อยในผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตหนาวที่มีฤดูหนาวยาวนาน โดยพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 2-3 เท่า คนที่มีอายุ 18-30 ปี และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ เช่น โรคซึมเศร้าทั่วไป โรควิตกกังวล หรือโรคไบโพลาร์
ปัจจุบันโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล ยังไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน แต่คาดว่าช่วงเวลากลางวันหรือระยะเวลาที่มีแสงอาทิตย์ในแต่ละวันอาจส่งผลกระทบต่อนาฬิกาชีวิตซึ่งเป็นวงจรที่ควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น การตื่นนอน การนอนหลับ และการหลั่งฮอร์โมนบางชนิด โดยช่วงเวลากลางวันที่สั้นลงในฤดูหนาวอาจทำให้นาฬิกาชีวิตผิดปกติ ก็สามารถทำให้สมองมีการหลั่งฮอร์โมนบางชนิดผิดปกติ ได้แก่
- ระดับเซโรโทนินลดลง เซโรโทนินเป็นสารสื่อประสาทในสมองที่มีหน้าที่สำคัญในการควบคุมอารมณ์ ซึ่งการได้รับแสงแดดไม่เพียงพออาจส่งผลให้สารชนิดนี้มีปริมาณลดลงและอาจก่อให้เกิดโรคซึมเศร้าตามมาได้
- ระดับเมลาโทนินสูงขึ้น เมลาโทนินมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการนอนหลับ หากฮอร์โมนชนิดนี้มีระดับสูงขึ้น อาจส่งผลให้รู้สึกง่วงนอนและเซื่องซึมจนเกิดเป็นภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน
อาการโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลเหมือนกับโรคซึมเศร้าทั่วไป แต่จะมีอาการที่เป็นแค่บางช่วงโดยเฉพาะหน้าหนาว และจะค่อยๆหายในฤดูร้อน เช่น รู้สึกหมดหวัง ไร้ค่า มีอารมณ์เศร้าต่อเนื่องเป็นเวลานาน อ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง หมดความกระตือรือร้นจะทำสิ่งต่างๆ น้ำหนักขึ้น นอนหลับมากผิดปกติ หรือนอนไม่หลับ และเก็บตัว ไม่ต้องการออกไปพบกับผู้อื่น
สำหรับการรักษาโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลมีวิธีการรักษาดังนี้
- การรับประทานยา ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อปรับสมดุลของสารในสมองตั้งแต่ต้นฤดูกาล
- การทำจิตบำบัด แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยบางรายเข้ารับการบำบัดพฤติกรรมและความคิด ซึ่งเป็นการปรับวิธีคิดและพฤติกรรมเพื่อรับมือกับภาวะซึมเศร้าอย่างเหมาะสม
- การบำบัดด้วยแสง เป็นการให้ผู้ป่วยเข้ารับการฉายแสงที่จำลองมาจากแสงอาทิตย์วันละประมาณ 1 ชั่วโมงหลังจากตื่นนอน เพื่อปรับระดับสารเคมีในสมองให้สมดุล โดยผู้ป่วยบางรายอาจฉายแสงด้วยตนเองที่บ้าน
- ปรับพฤติกรรมใช้ชีวิต ปรับพฤติกรรมชีวิตให้ผ่อนคลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเลือกกินอาหารที่ดี อาหารบางอย่างช่วยต้านซึมเศร้าได้ ออกกำลังกาย นอนหลับให้เพียงพอ นั่งสมาธิ ฟังเพลง ทำอาหาร เลี้ยงสัตว์ เหล่านี้มีส่วนช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าได้ดีขึ้น
ทั้งนี้สามารถป้องกันโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลได้ เช่น หลีกเลี่ยงการอยู่คนเดียว ออกไปข้างนอกรับแสงแดดให้มากขึ้น ออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนให้เพียงพอ แต่ถ้าลองทำแล้วยังไม่สามารถหลีกเลี่ยงอาการซึมเศร้าได้ ควรมาปรึกษาจิตแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมเพื่อจะได้กลับไปใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข
นายแพทย์ ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์
จิตแพทย์ โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital
บทความที่เกี่ยวข้อง
Social Detox เพื่อชีวิตที่สมดุล
คนทั่วโลกใช้เวลาบนโซเชียลมีเดียเฉลี่ยประมาณ 2-3 ชั่วโมงต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า
เช็กสัญญาณซึมเศร้าหลังคลอดที่คุณแม่ควรรู้
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเป็นเรื่องปกติที่พบได้บ่อยในคุณแม่หลังคลอด ประมาณ 1 ใน 7 ของคุณแม่จะประสบกับภาวะนี้ มักเกิดขึ้นภายใน 2 สัปดาห์แรกหลังคลอด
เมื่อใจต้องเผชิญกับความสูญเสีย ดูแลใจอย่างไรให้กลับมาแข็งแรง
การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักเป็นเรื่องที่ทุกคนอาจต้องเผชิญในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต ความรู้สึกเศร้าและอ้างว้างที่เกิดขึ้นสามารถสร้างความท้าทาย
Talk to Doctor
Call Us
Line BMHH