หากรู้สึกเบื่องาน เหนื่อยล้าจากการทำงาน มีอารมณ์ร่วมกับงานน้อยลง ไม่มั่นใจในความสามารถของตนเอง สมาธิลดลง มองความสัมพันธ์ในที่ทำงานไปในทางลบ อารมณ์ไม่ดี มุมมองต่อตนเองแย่ลง จนเกิดผลกระทบต่อการทำงานและความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของBurnout หรือ ภาวะหมดไฟ
ผลกระทบจากภาวะหมดไฟ
- ความคิดและจิตใจ มักมีปัญหาสมาธิความจำไม่ดี ไม่กล้าตัดสินใจ จัดการปัญหาได้ลดลง มองคุณค่าในตัวลดลง นอนไม่หลับ ซึมเศร้า อาจนำไปสู่การใช้บุหรี่หรือแอลกอฮอล์เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
- สุขภาพกาย อาจมีปัญหาปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน และเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้นเนื่องจากการทำงานของภูมิคุ้มกันที่ลดลง
- พฤติกรรม เกิดความไม่พอใจในหน้าที่การงาน ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ไม่ผูกพันกับองค์กร ไม่อยากไปทำงาน อยากลาออกจากงาน แต่ขณะเดียวกันถ้ายังคงทำงานต่อมักจะทำงานไม่มีประสิทธิภาพและอาจเกิดอารมณ์หงุดหงิดก้าวร้าวได้ โดยความรุนแรงสามารถแบ่งออกได้ 4 ระดับ ดังนี้
- ส่งผลกระทบเล็กน้อย คือ อาจมีแค่อาการเหนื่อยเพลียง่ายขึ้น ไม่มีอาการทางกายชัดเจน
- ส่งผลกระทบปานกลาง คือ มีอาการนอนไม่หลับ เหนื่อยหน่าย ไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน กระวนกระวายใจ รู้สึกผิดง่าย มองคุณค่าในตัวเองลดลง
- ส่งผลกระทบมาก คือ ขาดงานบ่อย ไม่ทำงาน ไม่เข้าสังคม เริ่มใช้แอลกอฮอล์หรือยาอื่นๆ
- ส่งผลกระทบมากที่สุด คือ แยกตัว หงุดหงิดก้าวร้าว ซึมเศร้ารุนแรง หรืออาจมีพฤติกรรมทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตาย
- ผลกระทบต่อองค์กร การที่พนักงานในองค์กรขาดแรงบันดาลใจในการทำงาน ทำให้ประสิทธิภาพและความสามารถในการทำงานลดลง
- ได้ผลงานลดลง และยังส่งผลกระทบถึงเพื่อนร่วมงานจนเกิดความขัดแย้งในที่ทำงาน หรือแม้กระทั่งการส่งต่อภาวะหมดไฟไปยังพนักงานคนอื่นได้
การป้องกันการเกิดภาวะหมดไฟสำหรับองค์กร
- ปรับสภาพแวดล้อมการทำงาน และเนื้อหาของงานให้เหมาะสมกับพนักงาน
- จัดตารางการทำงานและการใช้ชีวิตให้เหมาะสม (work-life balance)
- พัฒนาหัวหน้างานให้เป็นผู้นำที่ดี
- ให้รางวัลเป็นสิ่งจูงใจ โดยหลีกเลี่ยงการให้เป็นเงิน
- เฝ้าระวังและสังเกตภาวะหมดไฟ ในพนักงาน
- จัดตั้งหน่วยงานที่คอยให้คำปรึกษาด้านจิตใจ
- พัฒนาจุดแข็งของพนักงาน
- จัดตั้งกลุ่มให้การสนับสนุนพนักงาน
การป้องกันการเกิดภาวะหมดไฟสำหรับตัวเอง
- ปรับการใช้ชีวิต เช่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เลือกทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ หาเวลาพักผ่อน
- ฝึกการมีสติรู้ตัว
- ประเมินและสังเกตความคิด อารมณ์ พฤติกรรมตนเองสม่ำเสมอ
- จัดการเวลาทำงานของตนเอง ให้มีเวลาทำงานและเวลาพักผ่อนที่ชัดเจน
- มองหาคนที่จะพูดคุยเรื่องไม่สบายใจได้ หรือกลุ่มคนที่คอยเป็นกำลังใจ
อย่างไรก็ตามภาวะหมดไฟในการทำงานอาจไม่ร้ายแรง แต่ถ้าปล่อยไว้นานอาจทำให้เป็นโรคซึมเศร้าตามมาได้ หากรู้ตัวหรือคนรอบข้างสังเกตได้
เร็ว ลองปรับเปลี่ยนมุมมองต่อตัวเอง ต่องาน จัดการเวลาในการทำงานและพักผ่อนให้เหมาะสม หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ออกไปทำกิจกรรมที่ชอบ พบเพื่อนที่สนิทเพื่อพูดคุยและรับแรงสนับสนุนกำลังใจจากคนรอบข้างหรือครอบครัว คุยกับหัวหน้างานในเรื่องที่รู้สึกอึดอัด เพื่อช่วยกันจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น จะช่วยให้อาการบรรเทาลงได้ แต่ถ้าทำตามแล้วความรู้สึกไม่ดีขึ้น ยังมองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง จนเริ่มมีอารมณ์หงุดหงิดที่คุมได้ยาก จัดการปัญหาไม่ได้ แนะนำให้พบจิตแพทย์เพื่อประเมินและทำการรักษาที่เหมาะสม
บทความที่เกี่ยวข้อง
ครอบครัวบำบัด กุญแจสำคัญสู่ชีวิตครอบครัวที่อบอุ่น
ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกครอบครัวล้วนมีปัญหาภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวที่ดูสมบูรณ์แบบแค่ไหนก็ตาม ปัญหาเหล่านี้อาจเกิดจากความแตกต่างของบุคลิกภาพ
7 วิธีรับมือความเครียด หลังเจอเหตุการณ์รุนแรงกระทบจิตใจ
เมื่อคนที่เจอเหตุการณ์ความรุนแรง โดยเฉพาะเรื่องที่คาดไม่ถึงและอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต จะทำให้เกิดความกลัว กังวล
6 สิ่งที่ควรแสดงออกกับผู้ป่วยซึมเศร้า
การพูดคุยกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน บางคำพูดที่เรามีเจตนาดีจะสื่อออกไป กลับไปทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีความกดดัน
Talk to Doctor
Call Us
Line BMHH